สกศ. กำหนดเป้าหมายและแนวทางในการศึกษาวิจัยนำร่องการพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ

image

 

       เมื่อวันที่ (๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓) (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือเพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการศึกษาวิจัยนำร่องการพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมี ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิ นายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รศ.ดร.กมลรัฐ อินทรทัศน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารเพื่อการพัฒนา (CCDKM) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รศ.ดร.ปิยะฉัตร ล้อมชวการ และคณะนักวิจัย พร้อมด้วยข้าราชการ สกศ. เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี อาคาร ๑ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

      สกศ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะดำเนินการทดลองนำร่องดำเนินการวิจัยการพัฒนากำลังตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติจากสาขาอาชีพต้นแบบ เพื่อพัฒนามาตรฐานอาชีพ ออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรม และพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับรองคุณวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพของกำลังคนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหลักสูตรนี้

 

       กรอบแนวคิดในการศึกษาวิจัย (conceptual framework) และช่วงเวลาดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ ๑ ดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ (ประมาณ ๔ – ๖ เดือน) ดำเนินการ (๑) คัดเลือกอาชีพต้นแบบ และระดับคุณวุฒิ (๒) พัฒนามาตรฐานวิชาชีพ ตามผลลัพธ์การเรียนรู้ในกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) มาตรฐานอาชีพ/มาตราฐานฝีมือแรงงานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงมาตรฐานการศึกษา (๓) ออกแบบหลักสูตรการอบรมออนไลน์ และ (๔) ศึกษาวิจัยต้นแบบการพัฒนากำลังคนตาม NQF ด้วยการฝึกอบรมออนไลน์ เพื่อเทียบโอนหน่วยกิต/เทียบโอนประสบการณ์ ระยะที่ ๒ ดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ (ประมาณ ๙ – ๑๒ เดือน) ดำเนินการ (๑) ลงนามความร่วมมือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงาน (๒) จัดการฝึกอบรมและฝึกประสบการณ์ (๓) ประเมิน/ทดสอบ (๔) รับรองคุณวุฒิ และ (๕) ทดลองเทียบเคียงคุณวุฒิ กำกับติดตามและพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้อง

 

รศ.ดร.กมลรัฐ อินทรทัศน์ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารเพื่อการพัฒนา มสธ. ซึ่งได้ร่วมกับหน่วยงานในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ของกำลังคนกลุ่มต่าง ๆ เช่น (๑) การจัดทำหลักสูตรอบรมออนไลน์กลุ่มอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ (๒) การจัดทำสื่อและระบบการฝึกอบรม E-Training ในรูปแบบ The National Thai MOOC Platform (๓) โครงการ IT Princess School (โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท) และ (๔) หลักสูตรภาษาบาลีออนไลน์สำหรับภิกษุสามเณร โดยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้ รศ.ดร.กมลรัฐ ได้นำเสนอแนวคิดการวิจัยนำร่องเพื่อการเทียบโอน และการสะสมหน่วยกิต และ (ร่าง) แนวคิดการวิจัยนำร่องการสะสมหน่วยกิต และการเทียบโอนตามหลักการของ NQF

 

 

ผลการปรึกษาหารือในครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนด “แนวทางการศึกษาวิจัยนำร่องการพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ” โดยมีขอบเขตของงานวิจัย ที่เป็นการวิจัยนำร่องเพื่อกำหนดนโยบาย ในการนำ NQF ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สาขาอาชีพที่เลือกทดลอง คือ สาขาอาชีพดิจิทัล อาชีพนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ซึ่งเป็น ๑ ใน ๗ สาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพในเบื้องต้นแล้ว ดำเนินการในระดับ NQF ระดับ ๓ – ๖ เทียบได้กับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. จนถึงระดับปริญญาตรี เพื่อแสดงให้เห็นภาพการเทียบโอนหน่วยกิตจากการเรียนรู้ และประสบการณ์ไปสู่ระดับคุณวุฒิที่สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการวิจัยนี้เป็นการวิจัยนำร่องโดยความร่วมมือระหว่าง สกศ. กับ มสธ. โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในกระบวนการวิจัยด้วย

ผลจากการวิจัยในระยะที่ ๑ นี้ จะทำให้เห็นภาพดำเนินงานที่ผ่านมาแนวทางการดำเนินงานในอนาคต (mapping) ที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนงานพัฒนากำลังคนสาขาดิจิทัลตาม NQF ได้ต้นแบบ (prototype) การพัฒนากำลังคนตามหลักการของ NQF และ AQRF ด้วยกระบวนการอบรมออนไลน์ ผ่านโปรแกรม MOOC ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันและสามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ โดยใช้กระบวนการเทียบโอนประสบการณ์ ชั่วโมงการเรียนรู้/เครดิต ไปจนถึงการประเมินและรับรองคุณวุฒิให้กับกำลังคนทั้งที่อยู่ในภาคการศึกษาและตลาดแรงงาน

 

  ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่

    

 

         จัดทำโดย : สำนักสื่อสารองค์กร 
         ๘/๗/๒๕๖๓

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด