สกศ. แนะปลูกฝังวินัยเด็กเล็ก รู้หน้าที่-รับผิดชอบ นำเสนอซูเปอร์บอร์ดเด็กปฐมวัยขับเคลื่อน New Normal
วันนี้ (๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓) ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ในฐานะรองประธานอนุ ฯ ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจติดตามผลกระทบเด็กปฐมวัยจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธาน
ที่ประชุมได้หารือแนวทางการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการเด็กปฐมวัยภายใต้สถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทั้งผู้ปกครองและเด็กปฐมวัย ครูผู้ดูแลเด็ก รวมถึงสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย แม้จะมีข้อดีคือเด็กมีเวลาอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น และได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสัมพันธภาพที่ดี
แต่พบข้อมูลด้วยว่าเด็กได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เล่นที่จำกัด เด็กจึงมีความเครียด ขาดปฏิสัมพันธ์การเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ลานกิจกรรม แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ยังปิดแต่จะเปิดบริการตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็มีความเครียดจากการหยุดงาน ขาดรายได้ กระทบสัมพันธ์ต่อเด็กโดยตรง บางรายมารดาติดเชื้อโควิด-๑๙ ไม่สามารถให้นมบุตรได้ทำให้เด็กไม่ได้รับภูมิคุ้มกัน รวมทั้งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายซื้อนมผง ส่วนหน่วยบริการสาธารณสุขก็ไม่สามารถให้บริหารตรวจคัดกรองและกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก
ด้าน ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สกศ. มีข้อเสนอด้านการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-๑๙ เบื้องต้นควรมุ่งเน้นสร้างวินัยเด็กเล็กวัย ๐ - ๖ ปี เช่น สร้างการเรียนรู้สุขอนามัยที่ดีต่อทั้งตนเองและผู้อื่น การปฏิบัติตนของเด็กเล็กในสถานศึกษา สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างในห้องเรียนเพื่อลดความแออัด ฯลฯ รู้จักหน้าที่ตนเอง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะสร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ของเด็กปฐมวัย
โดย สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะเร่งศึกษารวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์สาเหตุและปัจจัยหลักนำไปสู่การเสนอแนวทางพัฒนาเด็กปฐมวัยรายงานเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป
ทั้งนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-๑๙ นั้น เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการติดตามประเมินเด็กปฐมวัยพบว่า พัฒนาการเด็กวัย ๐ - ๕ ปี ยังไม่กระทบมากนักสำหรับน้ำหนักตัวและส่วนสูง อย่างไรก็ดี ประมาณการว่าช่วงไตรมาส ๓ มีความครอบคลุมร้อยละ ๖๐ ลดลงจากช่วงไตรมาส ๒ (ร้อยละ ๘๐) แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็ก โดยที่ประชุมเสนอกำหนดมาตรการให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ติดตามใกล้ชิดในการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงเด็กในหมู่บ้าน และคอยติดตามแจ้งภาวะการเติบโตของเด็กให้พ่อแม่ผู้ปกครองทราบเป็นระยะ พร้อมให้คำแนะนำทางโภชนาการและสุขภาพ
ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่