ประชุมสภาการศึกษานัด ๕/๖๓ เสมา ๑ มอบหมาย พล.อ.พหล สง่าเนตร ประธานถกเร่งสรุปประเด็นปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญทันสิ้นเดือน ก.ค.นี้
วันนี้ (๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) มอบหมาย
พลเอก พหล สง่าเนตร กรรมการสภาการศึกษา (กกส.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๕/๒๕๖๓ โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นายคมกฤช จันทร์ขจร) พร้อม กกส.ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจเพื่อการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (อนุ กกส.เฉพาะกิจ ฯ) ที่มี ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร เป็นประธาน พร้อมแบ่งคณะทำงานออกเป็น ๔ คณะ ดำเนินการประชุมระดมความคิดเห็น ศึกษา วิเคราะห์แนวคิดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๖๓ เพื่อสังเคราะห์ประเด็นการปรับปรุงแผนปฏิรูปการศึกษาเพิ่มเติม สรุปสาระความก้าวหน้านำเสนอ กกส. ดังนี้
คณะที่ ๑ โดย ศาสตราจารย์อุทุมพร จามรมาน เป็นประธาน จัดทำข้อเสนอกำหนดเป้าหมายการพัฒนาคนไทยให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ๕ ด้าน (๑.ความรู้และความคิด ๒.คุณลักษณะ ๓.สังคมหรือการอยู่ร่วมกัน ๔.สุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ และ ๕.ด้านทักษะซึ่งต้องฝึกฝนให้คล่องแคล่ว) บัญญัติลงในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการศึกษามีเป้าหมายการพัฒนาทิศทางเดียวกัน พร้อมเสนอปรับแก้กฎหมาย ๕ ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) จัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ร.ฎ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเสนอแก้ไข มาตรา ๗ และมาตรา ๘ ของกฎหมายดังกล่าว โดยปรับแก้รายละเอียด ประเด็นย่อย และกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสม และยังมีข้อเสนอจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มเติมคือ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
คณะที่ ๒ โดย ศาสตราจารย์พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาประเด็นวิกฤติในปัจจุบันของระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ปรับแก้รายละเอียด ประเด็นย่อย และกิจกรรมจาก ๓๖ กิจกรรม ลดลงเหลือ ๒๔ กิจกรรม นอกจากนี้ ยังเสนอปรับปรุง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็น พ.ร.บ.สภาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยแยกสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และกำหนดบทบาทใหม่องค์กรวิชาชีพครู และเพิ่มอำนาจตามบาทบาทใหม่ กำหนดโครงสร้างการบริหาร ระบบใบอนุญาตและการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใหม่ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต เสนอให้จัดทำกฎหมายปรับสถานภาพสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบส.) ให้เป็นศูนย์เครือข่ายพัมนาครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาระดับชาติที่เป็นหน่วยงานอิสระในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
คณะที่ ๓ โดย ศาสตราจารย์ กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์ เป็นประธาน รับผิดชอบการจัดทำข้อเสนอปรับปรุงแผนการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล มีข้อเสนอจัดทำกฎหมายใหม่ ๒ ฉบับ คือ พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เสนอให้ สป.ศธ. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และเสนอจัดทำ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา ที่ให้ สกศ. รับผิดชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน แลำนำไปสู่การพัฒนาระบบการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ และให้การบริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาของประเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้รองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างทันสถานการณ์
และคณะที่ ๔ โดย ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร เป็นประธาน ได้ดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างการบริหารจัดการทางการศึกษาที่มีอยู่ปัจจุบันทั้งในส่วนกลาง ระดับพื้นที่และสถานศึกษา ซึ่งมีข้อเสนอหลักการปรับโครงสร้างส่วนกลาง โครงสร้างระดับจังหวัด โรงเรียนเอกชน การศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาพิเศษ รวมถึงองค์กรตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนี้ ยังเสนอจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.ศธ. เป็นรองประธาน เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็นเลขานุการ แนวคิดการให้สถานศึกษามีอิสระในการจัดการศึกษา พร้อมเสนอการจัดทำกฎหมายใหม่ จำนวน ๘ ฉบับ ปรับแก้กฎหมาย จำนวน ๒๑ ฉบับ ที่เกี่ยวข้อง
พลเอก พหล สง่าเนตร กล่าวว่า แนวคิดและข้อเสนอของ กกส. และคณะอนุ กกส. ฯ ทุกชุดที่มีการปรับแก้ในประเด็นปฏิรูปที่สำคัญ (Big Rock) เพิ่มเติมแล้ว จะได้รายงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยส่งผ่านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตามกรอบที่กำหนด ๙๐ วัน ภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุ กกส. ทั้ง ๖ คณะ ที่มีความก้าวหน้าตามลำดับ ประกอบด้วย อนุ กกส.คณะที่ ๑ ด้านการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดย สกศ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาวิจัยการส่งเสริม/สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการจัดทำแผนการดำเนินงานการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและ อปท. โดยจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยฉบับปรับปรุงเพื่อบูรณาการหน่วยงานหลักที่มีส่วนรับผิดชอบในการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ การจัดทำและพัฒนา (ร่าง) ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของระบบการศึกษาไทย การศึกษาและพัฒนาระบบการเทียบโอนระหว่างภาคการทำงานกับภาคการศึกษา เพื่อศึกษาและพัฒนาต้นแบบกลไกการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต (เครดิตแบงก์) รวมทั้งปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน โดยใช้หลักเกณฑ์การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนผ่านคณะอนุ กกส.เฉพาะกิจด้านการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง (พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๘๐) และเตรียมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ เพื่อสรุปสาระสำคัญรายงาน กกส.
อนุ กกส.คณะที่ ๒ ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดหรือข้อมูลบ่งชี้สภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปัจจุบันของประเทศไทย การพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน การกำหนดเครื่องมือ/กลไกหลักในการผลักดันแผนไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ ทรัพยากร ระบบข้อมูล การเข้าถึงการเรียนรู้ กฎระเบียบ และเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์การเงินการคลังที่บูรณาการความร่วมมือและระดมทรัพยากรจากภาคเอกชนและทุกภาคส่วน เพื่อสร้างมาตรการจูงใจในการร่วมลงทุน เช่น การลดหยาอนภาษี เป็นต้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหความเหลื่อมล้ำทั้งครู และโรงเรียนขนาดเล็ก
อนุ กกส.คณะที่ ๓ ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา กำหนดจัดประชุเพื่อพิจารณาความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างปี ๒๕๖๓ - ๑๕๖๔ เพื่อจัดทำรายงานผลการดำเนินกิจกรรมนำร่องการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อเปลี่ยนโฉมบทบาทครูให้เป็นครูยุคใหม่
อนุ กกส.คณะที่ ๔ ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ เร่งปรับปรุงหลักสูตรพร้อมกระบวนการจัดการเรียนการสอน และการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เป็นหลักสูตรสมรรถนะ การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับชาติและระบบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ระบบความปลอดภัยและระบบสวัสดิการของผู้เรียน ปฏิรูปอาชีวศึกษาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปฏิรูประบบอุดมศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาลของระบบอุดมศึกษา
อนุ กกส.คณะที่ ๕ ด้านการปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงและสภาพปัญหา อุปสรรคในการบริหารจัดการศึกษา เพื่อวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอนโยบายการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพผู้เรียน และปรับโครงสร้าง ศธ. ที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
และอนุ กกส.คณะที่ ๖ ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล เร่งบูรณาการองค์ความรู้ ตลอดจนถึงข้อเสนอการจัดทำกฎหมายต่าง ๆ และแนวทางการพัฒนาบูรณาการระบบข้อมูลทางการศึกษาของ ศธ. (บิ๊กดาตา) เพื่อวางระบบบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมรับทราบคำสั่ง สกศ. ที่ ๓/๒๕๖๓ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุ กกส. ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓
ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่
จัดทำโดย : สำนักสื่อสารองค์กร
๒๙/๖/๒๕๖๓