นัดที่ ๒ คณะอนุ ฯ เฉพาะกิจจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย เร่งโฟกัสเป้าประสงค์ ตัวชี้วัด ๗ ยุทธศาสตร์

image

 

       วันนี้ (๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) พร้อมด้วยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ร่วมการประชุมปรึกษาหารือการดำเนินงานการจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย มีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย และกำหนดองค์ประกอบคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง นัดประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ โดยมี รองศาสตราจารย์อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ เป็นประธาน ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

 

        ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่ ๒/๒๕๖๓ เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย และกำหนดองค์ประกอบคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยองค์ประกอบมีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัย และผู้ทรงคุณวุฒิจาก ๔ หน่วยงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี สกศ. เป็นฝ่ายเลขานุการ 


      รองศาสตราจารย์อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ กล่าวว่า คณะอนุ ฯ เฉพาะกิจจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย มีการทบทวนรูปแบบ แนวคิด และบทเรียนที่ดีจากต่างประเทศ รวมทั้งความก้าวหน้าผลการดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัยภายใต้ความร่วมมือ ๔ หน่วยงาน ศธ.-พม.-สธ.-มท. 


     โดยมีกระบวนการศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์งานวิชาการอย่างรอบด้านและหลากหลาย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐) และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา นำมาสู่การจัดทำ(ร่าง)แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. .... ที่ได้กำหนด ๗ ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ๑) การจัดและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย ๒) การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงกูเด็กปฐมวัย ๓) การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริกสรที่พัฒนาเด็กปฐมวัย ๔) การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัย และการนำไปใช้ประโยชน์ 


     ๕) การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการ และการดำเนินการตามกฎหมาย ๖) การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ และ ๗) การบริหารจัดการ การสร้างกลไก การประสานการดำเนินงาน และการติดตามประเมินผล ซึ่งที่ประชุมอภิปรายถึงสาระสำคัญ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด/ค่าเป้าหมาย มาตรการ แนวทางการดำเนินงานและหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละยุทธศาสตร์ รวมถึงการส่งเสริมให้หญิงเริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์ทุกคนได้รับบริการทางสาธารณสุข เพื่อให้บุตรมีสุขอนามัยที่ดี มีคุณภาพ และเพิ่มการดูแลกลุ่มเจริญพันธุ์ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา (ป.) ปีที่ ๕ ขึ้นไป เพื่อป้องกันแม่วัยใสด้วยอีกทาง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาตาม(ร่าง)แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.๒๕๖๑ - ๒๕๖๔ ระยะเวลา ๔ ปี


     อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๕๖๒ เด็กแรกเกิดถึงวัย ๕ ปี สำรวจพบมีพัฒนาการสมวัยร้อยละ ๘๕ และยังมีเด็กอายุระหว่าง ๒ - ๕ ปี ราวร้อยละ ๑๓.๓๕ ประมาณ ๔.๑ แสนคน ที่ไม่ได้เข้าเรียนในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนประถมศึกษา ยังต้องการการจัดการศึกษาที่สามารถกระตุ้นพัฒนาการสำหรับเด็กที่จะเรียนรู้และปรับตัวเพื่อก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กทุกคนด้วยความร่วมมือของพ่อแม่ผู้ปกครอง สถานศึกษา ชุมชน และสังคม ซึ่งเป็นความท้าทายของการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศ 

 

     ทั้งนี้ สกศ. บูรณาการร่วมกับ ๔ หน่วยงานหลัก เร่งผลักดันแผน ฯ สู่การปฏิบัติตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ การจัดทำระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลกลางด้านเด็กปฐมวัยของประเทศ รวมถึงสมรรถนะของเด็กปฐมวัย ๐ - ๖ ปี ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามพระราชบัญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อสร้างเอกภาพการดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัยของประเทศที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อนำเสนอร่างแผน ฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยพิจารณาต่อไป

 

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่

 

         จัดทำโดย : สำนักสื่อสารองค์กร 
         ๒๕/๖/๒๕๖๓

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด