สกศ.ประชุมสามัญสมัยพิเศษของสมาคม IEA ผ่านระบบทางไกล (Virtual GA Meeting)
เมื่อวันพุธที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๘.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะผู้แทนประเทศไทย (GA Member) ในสมาคมนานาชาติเพื่อประเมินผลการศึกษา (International Association for the Evaluation of Educational Achievement: IEA) และข้าราชการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมสามัญสมัยพิเศษของสมาคมฯ ผ่านระบบทางไกล (Virtual GA Meeting) ร่วมกับประเทศต่างๆ จำนวน ๕๕ ประเทศ ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
การประชุมครั้งนี้ของสมาคมฯ จัดขึ้นเป็นวาระพิเศษเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาต่างๆ ตลอดจนส่งผลต่อการดำเนินงานของสมาคมฯ ดังนี้
๑. โครงการตามแผนงานเดิม
ประเด็นด้านความคืบหน้าการดำเนินงานของสมาคมฯ ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้
๑.๑) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประชุมผู้ประสานงานโครงการ TIMSS 2019 ไปเป็นรูปแบบการประชุมทางไกล
๑.๒)รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานการเก็บข้อมูลภาคสนามโครงการศึกษาด้านทักษะการอ่านระดับนานาชาติ หรือ PIRLS 2021 ซึ่งในขณะนี้มีการรวบรวมและนำมาวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสิ้นจาก
๑๙ ประเทศ รวมถึงการเพิ่มข้อคำถามเกี่ยวกับ Covid-19 ลงในแบบสอบถาม
๑.๓) การประชุมเพื่อรองรับการทำงานในวงรอบปี 2023 ของโครงการศึกษาระดับนานาชาติ
ว่าด้วยการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (International Computer and Information Literacy Study: ICLIS) เป็นไปได้ด้วยดี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น ๕๐ ประเทศ
๑.๔) การรายงานผลอื่นๆที่เกี่ยวข้องของ IEA อาทิ โครงการที่เกี่ยวข้อง การเงินของ IEA
การปฏิบัติงานของ IEA และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19
๒. โครงการตามแผนงานใหม่
สมาคมฯ ยังได้นำเสนอโครงการริเริ่มใหม่ชื่อ Responses in Education Disruption Survey (REDs)
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอภาพกว้างของสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาของประเทศต่างๆ และการจัดทำข้อมูล ข้อเสนอแนะ ซึ่งผ่านการวิเคราะห์เชิงประจักษ์ ให้แก่ผู้จัดทำนโยบายและผู้นำการศึกษา ในการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ การปรับตัวและการปฏิบัติที่ดีของระบบการศึกษาต่างๆ ในการตั้งรับกับสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน โดยประเทศผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมในการดำเนินงาน ทั้งนี้ สมาคมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาหาองค์กรสนับสนุนการเงินใน
การดำเนินงานของโครงการ นอกจากนี้ยังมีโครงการ Kontinuitat und Wandel der Schule in Krisenzeiten (KWiK) ที่สมาคมฯ ได้ริเริ่มเริ่มร่วมกับมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมันนีและ IPN โดยเป็นโครงการเกี่ยวกับการดำเนินการและเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งประเทศต่างๆสามารถแจ้งความประสงค์
ในการเข้าร่วมโครงการได้กับสมาคมฯ ในโอกาสต่อไป
๓. การเตรียมการจัดประชุมสามัญในสมัยที่ ๖๑
ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางในการจัดประชุมสามัญในอนาคต โดยแบ่งเป็น ๒ รูปแบบ เนื่องจากในแต่ละประเทศมีข้อจำกัดด้านการเดินทางออกนอกประเทศภายใต้สถานกาณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
ที่แตกต่างกัน ได้แก่
๓.๑ การจัดประชุมในสถานที่ (on site)
๓.๒ การจัดประชุมทางไกล (online)
โดยที่ประชุมได้ขอมติผู้แทน (GA) ประเทศต่างๆ ในการแก้ไขบทบัญญัติของสมาคมฯ ให้ในอนาคตสามารถจัดการประชุมสมัยสามัญในรูปแบบทางไกลได้ โดยเฉพาะหากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19
ยังไม่คลี่คลาย และมีความเป็นไปได้ที่การประชุมสามัญในสมัยที่ ๖๑ ที่จะเกิดขึ้น ณ เมืองสปลิท
สาธารณรัฐโครเอเชีย ในปลายเดือนกันยายน ๒๕๖๓ จะต้องดำเนินการในรูปแบบทางไกลควบคู่ไปด้วยการนี้ เลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะผู้แทนประเทศไทยในสมาคมฯ ได้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้สมาคมแก้ไขบทบัญญัติ โดยสามารถจัดการประชุมสมัยสามัญในรูปแบบทางไกลร่วมกับการประชุมในสถานที่จริงได้ในอนาคต
ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่