อนุ กกส.เฉพาะกิจได้ข้อสรุปเตรียมเสนอ กกส. ปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
วันนี้ (๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๓) ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจเพื่อการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ โดยมี ศาสตราจารย์ คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร เป็นที่ปรึกษา เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.คมกฤช จันทร์ขจร) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปีสกศ.
ศ.ศรีราชา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงาน ๔ ชุดเพื่อศึกษา ๗ ประเด็นตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ทำไว้ ซึ่งวันนี้ประธานคณะทำงานฯ จะได้นำเสนอผลการดำเนินงาน โดยสรุปที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการบรรจุเรื่องคุณลักษณะคนไทยที่พึงประสงค์ที่อยากให้เป็นในอนาคต ซึ่งได้ระบุไว้ในแผนการปฏิรูประเทศด้านการศึกษาบางส่วน และอยากให้ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ด้วย ใน ๕ ด้าน คือ ๑. ด้านความรู้และหลักคิด มีส่วนที่เพิ่มเติมจาก กอปศ. คือ มีความฉลาดรู้ ๒. ด้านคุณลักษณะ มีส่วนที่เพิ่มเติม คือ มีวินัยรวมถึงมีจิตอาสา ๓. ด้านสังคมและการอยู่ร่วมกัน และให้เพิ่มเติมอีก ๒ ด้าน คือ ๔. ด้านสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ และ ๕. ด้านทักษะ (skill) ซึ่งต้องฝึกฝน ได้แก่ ๑. ทักษะทางร่างกาย ๒. ทักษะทางภาษาเพื่อการสื่อสาร ๓. ทักษะการถอดรหัส (coding) ๔. ทักษะการประกอบอาชีพ และ ๕. ทักษะการดำเนินชีวิต
ประเด็นที่อภิปรายกันมากอีกเรื่องคือการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต การคัดกรอง การพัฒนาและการบริหารงานบุคคล ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมคุณภาพการผลิต คัดกรอง และพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เช่น ระบบการกำกับปริมาณการผลิตครูระบบปิดให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง ร้อยละ ๔๐ การเพิ่มทางเลือกใหม่ในการผลิตครูที่ตอบสนองต่อความจำเป็นเร่งด่วนในสาขาที่ขาดแคลน และการเพิ่มค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้ครูโรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องรับภาระการสอนในหลายวิชา
การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล เพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ และระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา (BIG DATA FOR EDUCATION) และการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการเพื่อลดความซ้ำซ้อนขององค์กร โดยแบ่งกลุ่มตามภารกิจ คือ ด้านนโยบาย ด้านการจัดการศึกษา ด้านการสนับสนุน ด้านการตรวจสอบติดตามประเมินผล การแบ่งโครงสร้างการบริหารทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ พ.ร.ฎ จัดตั้ง สมศ. พ.ร.ฎ จัดตั้ง สทศ. ซึ่งเป็นการปรับแก้ชื่อหน่วยงานและบทบาทหน้าที่เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ควรจะเป็น ตลอดจนการจัดตั้งสมัชชาจังหวัดเพื่อการศึกษา ฯลฯ
นอกจากนี้ยังได้เสนอการอาชีวเกษตร โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้เด็กมีที่ดินทำกิน เพราะประเทศไทยเด่นเรื่องเกษตรกรรม ทำอย่างไรจะให้นักเรียนนักศึกษาได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐได้ และเสนอกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Big Rock) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ แนวทางการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ โดยสำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นโดยมีข้อเสนอกิจกรรมที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ๓ กิจกรรม คือ ๑.การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ๒.การปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ ๓.ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติซึ่งได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้แก่งชาติ การจัดทำBig Data เป็นต้น โดยข้อเสนอทั้งหมดจะนำเสนอต่อ กรรมการสภาการศึกษา ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในปลายเดือนมิถุนายนนี้
ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่