สกศ. ร่วมประชุมทางไกลคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ครั้งที่ ๒

image

 

        วันนี้ (๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) ในฐานะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนประจำประเทศไทย (AQRF Committee) พร้อมด้วย รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ผู้ทรงคุณวุฒิ (ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม) และผู้บริหาร/ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนผ่านระบบออนไลน์ ครั้งที่ ๒ (The Second Intercessional Meeting of the ASEAN Qualifications Reference Framework (AQRF) Committee) โดยมี Dr. Megawati Santoso กรรมการ AQRF ประจำประเทศอินโดนีเซีย เป็นประธานการประชุม และคณะกรรมการ AQRF จาก ๑๐ ประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุม จัดโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

        ที่ประชุมได้เสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมการ AQRF โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
๑. การรายงานผลการประชุมคณะกรรมการ AQRF ครั้งที่ ๗ ไปยัง ๓ คณะกรรมการ ๓ ฝ่ายของอาเซียน ซึ่งได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการค้า (SEOM) ผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ ๒๗ – ๒๘ เมษายน ๒๕๖๓ โดยที่ประชุมได้รับรองรายงานการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว
๒. ความก้าวหน้าในการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ประเทศไทยได้นำรายงานการเทียบเคียงฉบับสมบูรณ์เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว (https://asean.org/asean-economic-community/sectoral-bodies-under-the-purview-of-aem/services/asean-qualifications-reference-framework/) ทั้งนี้ มีประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับการรับรองรายงานการเทียบเคียง AQRF แล้ว ๔ประเทศ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และอินโดนีเซีย 
๓. ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กรรมการจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้นำเสนอความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิ โดยประเทศไทย สกศ. ได้จัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ เพื่อรับทราบความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงาน NQF และการเทียบเคียงกับ AQRF และร่วมกันวางแผนการดำเนินของประเทศไทย ส่วนความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนงาน NQF ประเทศไทยได้มีแต่งตั้งประธานคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติท่านใหม่ คือ รองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม  และมีหลายหน่วยงานในประเทศได้ขับเคลื่อนงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะกำลังคนในภูมิภาคอาเซียน เช่น 
• กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมกับ Thailand International Cooperation Agency (TICA) ดำเนินการโครงการ Indonesia – Malaysia – Thailand Growth Triangle Project Development (IMT-GT) และมีการพัฒนาและรับรองสมรรถนะของกำลังคนตามข้อตกลงยอมรับร่วมเกี่ยวกับทักษะ (Mutual Recognition of Skills: MRS) ร่วมกับประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) 
• สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้พัฒนามาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาอาชีพใหม่ ๆ ที่ตอบสนองการพัฒนาประเทศในอนาคต เช่น การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานสาขาพลังงานไฟฟ้าจากเซลส์แสงอาทิตย์ เป็นต้น
• สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้พัฒนาหลักสูตรในระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพและมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome: LO) ตาม NQF อีกทั้งได้จัดทำโครงการนำร่องที่จัดแผนการเรียนแบบ Block Course หรือ Module 
๔. รายงานผลการดำเนินการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AQRF ได้แก่ (๑) โครงการ EU Support to Higher Education in the ASEAN Region (SHARE) ซึ่งเป็นโครงการที่สหภาพยุโรปได้สนับสนุนการประกันคุณภาพในระดับอุดมศึกษา (๒) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อน NQF และการประกันคุณภาพในภาคอาชีวศึกษาและฝึกอบรมในประเทศ CLMV (๓) การรายงานผลความสำเร็จของการใช้ AQRF ในการพัฒนาสมรรถนะและการเคลื่อนย้ายกำลังคนในภูมิภาค ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ (AANZFTA) (๔) การนำคู่มือการประกันคุณภาพ ASEAN Guiding Principles for Quality Assurance and Recognition of Competency Certifications Systems ไปทดลองนำร่องในการประกันคุณภาพในสาขาการท่องเที่ยวและโรงแรม (๕) ปฏิญญาอาเซียนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงาน (ASEAN Declaration on Human Resources Development for the Changing world of Work) และ (๖) การตั้งสภาการอาชีวศึกษาและฝึกอบรม (ASEAN TVET Council: ATC) 
๕. ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและปรับแก้ไขคู่มือการเทียบเคียง AQRF (AQRF Referencing Guidelines) ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการเทียบเคียง AQRF และเป็นแนวทางสำหรับคณะกรรมการ AQRF ในการพิจารณารับรองรายงานการเทียบเคียง AQRF ของประเทศสมาชิกต่อไป

 

 

        นอกจากนี้ประชุมยังได้หารือแนวทางการจัดการประชุมคณะกรรมการ AQRF ครั้งที่ ๘ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งต่อไปในปลายปี ๒๕๖๓ ซึ่งเลขาธิการสภาการศึกษากล่าวถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาสถานการณ์ของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ร่วมด้วย

 

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่

 

      จัดทำโดย : สำนักสื่อสารองค์กร 
       ๑๖/๖/๒๕๖๓

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด