สกศ. เดินหน้าปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ ๑

image

 

   เมื่อวันที่ (๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๓) ศาสตราจารย์กิตติคุณชนิตา รักษ์พลเมือง เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ มีเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) และรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

 

   ที่ประชุมได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จำนวน ๖ คณะ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านต่าง ๆ ที่นำไปสู่การปฏิบัติตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้อย่างบังเกิดผลต่อสภาการศึกษา ซึ่งคณะที่ ๓ คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา โดยมี ศาตราจารย์กิตติคุณชนิตา รักษ์พลเมือง เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดังนี้

 

 

๑. พิจารณาเสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการผลิตและคัดกรองครู ผู้บริการ และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของประเทศ และมีจิตวิญญาณของความเป็นครู

 

 

๒. พิจารณาเสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา

 

 

๓. พิจารณาเสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้มีความก้าวหน้าทางวิชาชีพและสวัสดิการที่เหมาะสม

 

 

๔. พิจารณาเสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

 

๕. ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่สภาการศึกษาหรือประธานสภาการศึกษามอบหมาย

 

 

๖. เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม รวมทั้งจัดการ รวบรวม จัดส่งหรือชี้แจงเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

 

๗. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามที่อนุกรรมการมอบหมาย

 

 

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาพบปัญหาจำนวนที่ผลิตครูล้นตลาด มีผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูเกินกว่า ๑ แสนราย ซึ่งแนวทางแก้ไขเบื้องต้น ได้แก่ ๑. จะต้องคัดกรองคนเก่งมารับทุน ให้เรียนครู จบแล้วบรรจุเป็นข้าราชการ เรียกว่าระบบปิด น่าจะเป็นในปริมาณ ร้อยละ ๔๐ แล้วขยับไปจนถึงร้อยละ ๕๐ หรืออาจเป็นร้อยละ ๖๐ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่จะเข้าโครงการในระบบปิดไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ต้องขอรับการประเมินว่าจะสามารถเป็นผู้ผลิตได้ตามคุณภาพที่ต้องการหรือไม่ ๒. ในระบบเปิดที่ผลิตครูทั่วไป ต้องปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับการพัฒนากำลังคนสมัยใหม่ ที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ  ๓. ครูในโรงเรียนและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ผลิตครู ต้องมีระบบการนำกลับมาเรียนรู้ใหม่ในทักษะการจัดการสอนของคนในศตวรรษที่ ๒๑ เช่น ทักษะด้านไอที ทักษะภาษาต่างประเทศ รวมทั้งทักษะสอนเยาวชนให้มีคุณธรรม มีทักษะการเป็นพลเมืองดีด้วย

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด