สกศ. ประชุมรับฟังความก้าวหน้าการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF)

image

 

 

    เมื่อวันที่ (๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และการเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) พร้อมด้วยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

 

 

     เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การดำเนินงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นหน้าที่ของภาครัฐและเอกชนที่ต้องวางแผนการทำงานร่วมกัน ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย สภาการศึกษาจะเป็นหน่วยงานในการรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และวางแผนขับเคลื่อนงานสู่การปฏิบัติเพื่อผลิตและสร้างกำลังคนคุณภาพของประเทศ

 

 

     ที่ประชุมรับฟังความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานของ สกศ. เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติชุดใหม่ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ และผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนและสากล

 

 

     สกศ. รายงานการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของการประชุมอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ผ่านมา ในประเด็น ความก้าวหน้าในการเสนอ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๕ และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างการปรับเพิ่มประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป อาทิ เกี่ยวกับการเพิ่มบทบาทภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมในการทำงาน พร้อมทั้งปรับปรุงระเบียบข้อกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ

 

 

    สำหรับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนา ได้พิจารณาสาขาอาชีพต้นแบบ ๗ สาขา ได้แก่ ๑) โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ๒) โลจิสติกส์และซัพพลายเชน ๓) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ๔) เทคโนโลยีสารสนเทศ และดิจิทัลคอนเทนต์ ๕) อาหารและการเกษตร ๖) ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน และ ๗) แม่พิมพ์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของภาคแรงงาน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

 

 

    นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับฟังความก้าวหน้าในงานที่เกี่ยวข้องจากเครือข่าย อาทิ องค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรมเจรจากา รค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแผนการดำเนินงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นข้อมูลในการร่วมประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF Committee) ผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับประเทศสมาชิกต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด