ระดมภาคี ๖ กระทรวง จัดทำ (ร่าง) มาตรฐานการจัดการศึกษาผู้สูงอายุ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓
วันนี้ (๙ มิถุนายน ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) และรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) เข้าร่วมประชุมคณะทำงานจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานการจัดการศึกษาผู้สูงอายุ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ โดยมี ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
สกศ. เร่งหารือเพื่อจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานการจัดการศึกษาผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ๖ กระทรวง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงแรงงาน (รง.) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ นำไปสู่การสังเคราะห์มาตรฐานของการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุทุกมิติ และเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
สังเคราะห์งาน บูรณาการร่วมกัน
ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุสืบเนื่องจากการประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ ตามภารกิจที่ดำเนินการอยู่ของหน่วยงาน ๓ กระทรวง ดังนี้ ๑) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการด้านหลักประกันรายได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และสร้างมาตรฐานการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ เช่น ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยการจัดตั้งชมรม/โรงเรียนผู้สูงอายุ ๒) สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการอบรมให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุ พร้อมสร้างคู่มือส่งเสริมสุขภาพป้องกันผู้สูงอายุสมองเสื่อม ในหลักสูตร “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และแอปพลิเคชัน “สูงวัยสมองดี” มีเนื้อหาการบริหารสมอง แบบประเมินคัดกรองภาวะสมองเสื่อมด้วยตนเอง และ ๓) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้การฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานผู้สูงอายุเพื่อการประกอบอาชีพ ๓.๗ ล้านคน เช่น หลักสูตรการทำขนมไทย การแปรรูปสินค้า และการขายสินค้าออนไลน์ด้วย Mobile Application เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถสร้างรายได้ต่อตนเอง ครอบครัว และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กำหนดมาตรฐานสู่แนวปฏิบัติ
ที่ประชุมได้หารือประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานการจัดการศึกษาผู้สูงอายุตามกรอบมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งพิจารณาผลการดำเนินงานแต่ละกระทรวง โดยเห็นชอบในหลักการให้เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) ซึ่งมีเนื้อหาหลักครอบคลุมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การใช้ชีวิตหลังเกษียณหรือมีอาชีพรองรับ การอยู่ในสังคมที่ดี การสร้างความสุขเพื่อเตรียมพร้อมเดินทางไปสู่จุดสุดท้ายอย่างสง่างาม และการส่งผ่านประสบการณ์/ความรู้ต่อสาธารณะหรือการส่งต่อมรดกความรู้
ด้านแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาจะต้องศึกษารูปแบบความต้องการตามสภาพจริง ที่ประชุมพิจารณาโรงเรียนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาของผู้สูงอายุในประเทศไทย เพื่อศึกษากิจกรรมและวิธีการจัดการศึกษาที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้ การปรับตัวและทักษะการใช้ชีวิตที่จำเป็น นำไปสู่การวางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน