สกศ. จัดประชุมคณะทำงานที่ ๑ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ หารือลักษณะเด็กไทยศตวรรษที่ ๒๑ พร้อมเดินหน้าปรับแก้ประเด็นแผนปฏิรูปประเทศ
วันนี้ (๒ มิถุนายน ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) ร่วมประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา คณะทำงานที่ ๑ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ โดยมีศาสตราจารย์อุทุมพร จามรมาน เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
โดยที่ประชุมร่วมหารือหลายเรื่องโดยมุ่งเน้นเรื่องลักษณะเด็กไทยและคนไทยในศตวรรษที่ ๒๑ กรอบแนวทางตามมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยได้สรุปให้แบ่งลักษณะเด็กไทยและคนไทยในศตวรรษที่ ๒๑ เป็น ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านที่ ๑ รู้และคิด (Cognitive) ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ด้านที่ ๒ คุณลักษณะ (Psy, Traits) มีวินัย เจตคติ คุณธรรม และจริยธรรม ด้านที่ ๓ สังคม (Social) เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เข้าใจค่านิยมทางสังคมที่ถูกต้อง ด้านที่ ๔ สุขภาวะทางกายและจิต และด้านที่ ๕ ทักษะ (Skills) ทักษะทางกาย ทางความคิด การสื่อสาร การประกอบอาชีพ รวมถึงการดำเนินชีวิต
ที่ประชุมได้พิจารณาวาระสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ เกี่ยวกับการพิจารณาจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยได้แบ่งกลุ่มคณะทำงานย่อยเพื่อจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปดังกล่าว จำนวน ๓ กลุ่ม ซึ่งทางคณะทำงานย่อยได้จัดทำข้อสรุปและปรับแก้ไขเรื่องและประเด็นในแผนปฏิรูปประเทศ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
กลุ่มที่ ๑: เรื่องที่ ๒ การปฏิรูประบบการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยการพัฒนาระบบ การดูแล การพัฒนา และการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา และสมองอย่างเต็มศักยภาพให้สมกับวัย สื่อสารสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาเด็กปฐมวัย และใช้นวัตกรรมการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเต็มรูปแบบ
กลุ่มที่ ๒: เรื่องที่ ๓ การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยการดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และพัฒนาสถานศึกษาที่ต้องยกระดับคุณภาพอย่างเร่งด่วน
กลุ่มที่ ๓: เรื่องที่ ๕ การปฏิรูประบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ โดยการ การจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) การประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก การวัดและประเมินผลการศึกษาระดับชาติ การวัดและประเมินในสถานศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา ระบบการเข้าศึกษาต่อในชั้นป.๑, ม.๑, ปวช.ปี ๑ และอุดมศึกษาปี ๑ การปฏิรูประบบดูแลช่วยเหลือและสนับสนุนผู้เรียน ระบบและกลไกการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการปฏิรูประดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาสรุปแผนงาน กิจกรรม ระยะเวลา งบประมาณ หน่วยงานหลักและรองที่รับผิดชอบ ตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการฯที่จะประชุมวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ ต่อไป