สกศ. ประชุม ครั้งที่ ๖/๒๕๖๓ คณะทำงานที่ ๔ เสนอปรับโครงสร้างสถานศึกษาและการศึกษาตลอดชีวิต

image

 

     วันนี้ (๒ มิถุนายน ๒๕๖๓) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ร่วมประชุมคณะทำงานที่ ๔ เพื่อจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ครั้งที่ ๖/๒๕๖๓ โดยมี ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

 

 

      ที่ประชุมพิจารณาวาระสืบเนื่องเกี่ยวกับข้อเสนอการปรับโครงสร้างสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคล หรือสถานศึกษาที่เป็นอิสระ ในประเด็นความเป็นอิสระของสถานศึกษา เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้ด้วยตนเอง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตามหลักการประจายอำนาจและการจัดการแบบโรงเรียนเป็นฐาน ก่อให้เกิดความอิสระในการบริหารจัดการ ๔ ด้าน คือ ๑) มีความเป็นอิสระในการบริหารสถานศึกษา ๒) มีความเป็นอิสระในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ๓) มีความเป็นอิสระในการบริหารการเงินและการใช้จ่ายเงิน และ ๔) มีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล 

 

 

     พร้อมเสนอหลักการบริหารจัดการแยกตามขนาดจำนวนนักเรียน ซึ่งให้ความสำคัญกับโรงเรียนขนาดเล็ก โดยถ่ายโอนโรงเรียนขนาดเล็กให้กับท้องถิ่นบริหารจัดการ และสามารถบูรณาการบุคลากรร่วมกันได้ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งต้องกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขและมีกฎหมายรองรับ เช่น ระบุคุณสมบัติของโรงเรียนที่ต้องถ่ายโอน กฎหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาท้องถิ่น สถานะครูท้องถิ่น และสิทธิประโยชน์ของครูท้องถิ่นในกฎหมายการศึกษา นอกจากนี้ เสนอให้โรงเรียนขนาดกลางบริหารจัดการโดยใช้ลักษณะกลุ่มเครือข่ายที่มีกฎหมายรองรับ และโรงเรียนขนาดใหญ่ที่บริหารจัดการในรูปแบบองค์การมหาชน

 

 

      ทั้งนี้ ที่ประชุมพิจารณาวาระสำคัญเพื่อปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ในประเด็นการปฏิรูปที่ ๖ การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ๑) เสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็น “การศึกษาตลอดชีวิต” มีความหมายรวมการศึกษาทางเลือก การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพ ๒) ให้มีหน่วยงานกลางในการเทียบโอนผลการเรียน เทียบโอนความรู้และประสบการณ์ทุกระดับ ซึ่งต้องมีความเข้าใจการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อให้การเทียบโอนมีมาตรฐาน สามารถทำให้ผู้เรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น และ ๓) ให้มีหน่วยงานกลางในการจัดสอบวัดความรู้ เช่น สถาบันการทดสอบแห่งชาติ เพื่อให้การจัดสอบของการศึกษาทั้งในและนอกระบบมีมาตรฐานเทียบเคียงกัน

 

 

    สำหรับการศึกษาพิเศษ (การศึกษาสำหรับคนพิการ และการศึกษาสำหรับคนที่มีความต้องการพิเศษ) ให้ยกระดับการพัฒนาบุคคลดังกล่าว ดังนี้ ๑) ให้แบ่งการจัดการเรียนการสอนระหว่างคนพิการและคนที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศักยภาพและความสนใจ ๒) ปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการศึกษา ของคนพิการและคนที่มีความต้องการพิเศษ และ ๓) ยกระดับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นหน่วยงานระดับกรม โดยมีบทบาทจัดการศึกษาให้ครอบคลุมทั้งคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และคนที่มีความต้องการพิเศษ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในการประชุมจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพของการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด