สภาการศึกษา ครั้งที่ ๔/๖๓ เสนอปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวด้วยอัตราเงินเฟ้อ
วันนี้ (๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๓ โดย เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นายคมกฤช จันทร์ขจร) พร้อมคณะผู้ทรงคุณวุฒิ กกส. ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางหลายประเด็นสืบเนื่องจากวาระความก้าวหน้าการแต่งตั้งคณะอนุ กกส. ที่สอดรับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งพิจารณาความก้าวหน้าการจัดทำระบบติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน (Dashboard) เพื่อการติดตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่มีแผนการปฏิรูปการศึกษาทั้งสิ้น ๗ เรื่อง ๒๙ ประเด็นย่อย กิจกรรมรวม ๑๓๑ กิจกรรม โดย สกศ. รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามแผนปฏิรูป ฯ ประเด็นที่ ๑ การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และกฎหมายลำดับรอง ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....) อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำให้ยังไม่สามารถตรากฎหมายลำดับรอง และที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ พบว่าจาก ๑๖ กิจกรรมใน ๕ ประเด็นย่อย มีกิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว ๓ กิจกรรม กิจกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ๘ กิจกรรม และยังไม่ได้ดำเนินการอีก ๕ กิจกรรม
ทั้งนี้ กิจกรรมที่มีความสำคัญ อาทิ นำเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๓ เพื่อให้เป็นไป ตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ การจัดทำข้อเสนอว่าด้วยการจัดทำ
และเสริมสร้างสมรรถนะที่จำเป็นของคนไทยในศตวรรษที่ ๒๑ โดย สกศ. ศึกษาวิจัยและนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในระดับชั้น ป.๑ - ๓ ในปี ๒๕๖๒ และมีแผนศึกษาวิจัยและนำร่องในระดับ ป.๔ - ๖ ในปี ๒๕๖๓ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะมีการทดลองนำร่องในโรงเรียนที่พร้อมในปี
๒๕๖๔ และใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะกับทุกโรงเรียนในปี ๒๕๖๕ และ สกศ. กำลังดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาระบบการเทียบโอนระหว่างภาคการทำงานกับภาคการศึกษา เพื่อศึกษาและพัฒนาต้นแบบกลไกการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต (เครดิตแบงก์)
นอกจากนี้ สกศ. ร่วมมือ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำมาตรฐานอาชีพตามหลักการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ จำนวน ๕๗ สาขาอาชีพ การปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ ให้มีความสอดคล้อง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่
รวมทั้งเตรียมการปรับโครงสร้าง สกศ. เป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ รองรับตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมีแนวคิดเสนอการปรับองค์กร ศธ. รองรับภารกิจตามรูปแบบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่มีความ
ครอบคลุม ๖ พันธกิจ ๑) ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและติดตามประเมินผล ๒) นโยบายและยุทธศาสตร์ ๓) ระบบและมาตรฐานการศึกษา ๔) วิจัยและพัฒนานวัต
กรรม ๕) พัฒนากฎหมายการศึกษา และ ๖) การบริหารงานกลาง เป็นต้น
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในฐานะประธาน กกส. กำชับให้การขับเคลื่อนแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติภายใต้กรอบการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาทั้ง ๗ ประเด็น วางกรอบระยะเวลาดำเนินงาน กำหนดเป้าหมาย/ผลลัพธ์ให้ชัดเจน มีความก้าวหน้าผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างไรจะสามารถปฏิบัติได้จริง โดย สกศ. รับไปปรับรายละเอียดตัวชี้วัด และการกำหนดเป้าหมายที่มีสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น
วาระสำคัญที่มีการพิจารณาอีกเรื่อง สกศ. ได้เสนอที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอแนวทางการปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวด้วยอัตราเงินเฟ้อ เพื่อสะท้อนมูลค่าแท้จริงของเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานใน ๕ รายการค่าใช้จ่ายหลัก ๑) เงินอุดหนุนทั่วไปสำหรับกิจกรรมการเรียนการสอน ๒) หนังสือเรียน ๓) อุปกรณ์การเรียน ๔) เครื่องแบบนักเรียน และ ๕) กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
พร้อมเสนอให้มีการปรับกิจกรรมรายจ่าย อัตราเงินอุดหนุนและวิธีการอุดหนุนที่สอดคล้องกับความจำเป็นของผู้เรียนและสถานศึกษาที่มีบริบทเชิงพื้นที่แตกต่างกัน โดยคำนึงถึงต้นทุนส่วนเพิ่มหรือต้นทุนแฝงที่เกิดจากความยากลำบากในการเดินทาง เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน
รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมที่แตกต่างจากสถานศึกษาปกติทั่วไป เช่น การจัดหาผู้ช่วยสอนและกิจกรรมเสริมสำหรับผู้เรียน/ผู้ปกครองที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลักในการสื่อสาร การเดินทางเพื่อร่วมแข่งขันหรือกิจกรรมทางวิชาการ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาในการจัดและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน รวมทั้งแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครองและส่งผลต่อการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม รมว.ศธ. ตั้งข้อสังเกตว่า ควรเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งยอมรับ
เงินงบประมาณปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และยังมีความซ้ำซ้อนการใช้จ่าย อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับสัดส่วนครูและเด็ก ที่ยังต้องการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพถึงตัวผู้เรียนอย่างตรงจุด
ดังนั้น เมื่อมีข้อเสนอแนวทางปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามอัตราเงินเฟ้อ ต้องสอดคล้องกันทั้งปริมาณและคุณภาพ ลดความซ้ำซ้อนและลดการรั่วไหล ต้องมีจุดเน้นเพื่อสร้างความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณ เช่น การปรับเพิ่มเงินอุดหนุนในส่วนเด็กปฐมวัย หรือผู้เรียนอาชีวศึกษา รวมทั้งการสนับสนุนการจัดการศึกษาเอกชน เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน ฯลฯ ช่วยสร้างฐานกำลังคนที่มีคุณภาพสอดคล้องทิศทางกสรพัฒนาประเทศในอนาคต
สำหรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวดังกล่าว รัฐบาลให้การสนับสนุนการจัดการศึกษาของ ศธ. อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ - ปัจจุบัน ซึ่งเด็กในระดับปฐมวัยได้เงินอุดหนุนทั้ง ๕ รายการ รายละประมาณ ๒,๘๓๐ บาท ระดับประถมศึกษา (ป.๖) รายละ
๓,๙๑๘ บาท ระดับมัธยมศึกษา (ม.๓) อยู่ที่ ๖,๑๙๙/คน ส่วนระดับ ม.๖ ขยับขึ้นมาเป็น ๖,๘๒๐ บาท ขณะที่ระดับอาชีวศึกษา ได้รับการอุดหนุนรายหัวสูงกว่าระดับมัธยม สายพาณิชยการ ได้รับ ๙,๒๑๐ บาท ส่วนสายช่างอุตสาหกรรม อยู่ที่ ๑๐,๘๑๐ บาท
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มีอัตราเงินเฟ้อสะสมตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ - ๒๕๖๒ ประมาณร้อยละ ๑๕.๙๓ โดยเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยราวร้อยละ ๑.๖ ดังนั้น สกศ. จึงได้เสนอต่อที่ประชุม กกส. เพื่อเห็นชอบการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ สกศ. ประมาณการเบื้องต้นจะส่งผลกระทบวงเงินงบประมาณเพียงเล็กน้อย เนื่องจากจำนวนนักเรียนมีแนวโน้มลดลงตามจำนวนประชากรที่ลดลง ซึ่งคาดการณ์ในปี ๒๕๗๐ มีแนวโน้มใช้วงเงินลดลงเหลือราว ๖.๒๓ หมื่นล้านบาท นับเป็นแนวทางหนึ่งที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนำไปสู่การใช้งบประมาณด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา