ที่ประชุมสภาการศึกษา นัดที่ ๓/๒๕๖๓ บูรณาการ ๖ คณะ ๑ ทีมเฉพาะกิจ เชื่อมโยง New normal เสริมปฏิรูปการศึกษา

image

 

วันนี้ (๒๗ เมษายน ๒๕๖๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นายคมกฤช จันทร์ขจร) พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ กกส. ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 


     นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า การเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-๑๙) ส่งผลกระทบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และบุคลากรทางการศึกษา ต้องปรับตัวและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ อาจเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็น New normal ด้านการศึกษาของประเทศ


     อย่างไรก็ตาม ต้องขับเคลื่อนการศึกษาไม่หยุดยั้ง มุ่งเน้นสาระความรู้ผ่านระบบดิจิทัลทดแทนการเรียนการสอนแบบเดิม ความท้าทายของบุคลากรทางการศึกษาครั้งนี้ไม่ต่างจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เช่นกัน ระยะเวลา ๒ เดือนต่อจากนี้ ศธ. จะประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับแผนงานให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น ความปลอดภัยในโรงเรียน ต้องมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ถ้ามีความจำเป็นอาจต้องแบ่งกะในการเรียน และอาจมีการเรียกบัญชีครูที่กำลังรอบรรจุมาช่วยสอนด้วย


     นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กล่าวว่าแนวทางในการควบรวมโรงเรียนต้องนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแสดงความกังวลต่อปัญหาการปฏิรูปการศึกษาด้วยระบบดิจิทัลต้องสามารถรองรับการวัดผล และประเมินผลการศึกษา ศธ. จึงมีการปรับงบประมาณประจำปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ สอดคล้องสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่มีความยืดหยุ่นมุ่งสู่การปฏิรูปการศึกษาในช่วงวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ


    "ประเด็นการเลื่อนเปิดเทอม ๑ กรกฎาคมนี้ ไม่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แต่ระบบการเรียนการสอนทั้งประเทศต้องมีคุณภาพ ระหว่างวันที่ ๑๘ พฤษภาคม จนถึง ๑ กรกฎาคม จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเด็ก แม้มีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดลงแต่ยังไม่สามารถอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ตามปกติ จึงเลือกใช้สื่อและช่องทางระบบดิจิทัลเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนการสอนออนไลน์แทน โดยมุ่งเน้นทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพ" นายณัฏฐพล กล่าว

 

 
       ที่ประชุมยังได้พิจารณาวาระต่อเนื่องตามมติที่ประชุม กกส. ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุ กกส. ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จำนวน ๖ คณะ ประกอบด้วย คณะที่ ๑ ด้านการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ คณะที่ ๒ ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คณะที่ ๓ ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตคัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ 

 


     คณะที่ ๔ ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อสนองความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ คณะที่ ๕ ด้านการปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา และคณะที่ ๖ ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล โดยไม่มีการแต่งตั้งคณะด้านการปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน เนื่องจากมีกฎหมาย พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ รองรับการขับเคลื่อนงานอยู่แล้ว

 


      ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ (อนุ กกส.เฉพาะกิจ)  เพื่อการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร ซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษาและประธานคณะกรรมการประสานงานการปฏิรูปและติดตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) รับหน้าที่ประธานคณะอนุ ฯ และวางกรอบระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม ๒๕๖๓

 

 
      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธาน กกส. ตั้งข้อสังเกตต่อที่ประชุมถึงบทบาทของคณะอนุ กกส. ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาทั้ง ๖ คณะ ที่มีบทบาทในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ (Policy Implementation) ควรมีการบูรณาการอย่างใกล้ชิดเชื่อมโยงกับคณะอนุ กกส.เฉพาะกิจ ฯ ซึ่งเพิ่มบทบาทการจุดประกายความคิด นำไปสู่การกำหนดนโยบาย (Policy Formulation) ทั้งนี้ เพื่อทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในการตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

 

 
      นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการออกหนังสือรับรองครูชาวต่างชาติของศูนย์การเรียน ซึ่งเกิดจากความไม่ชัดเจนการกำหนดผู้มีอำนาจในการออกหนังสือรับรอง ฯ ดังกล่าว ในการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร โดยเสนอให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ความเห็นทางกฎหมายต่อไป และได้รับทราบผลความก้าวหน้าการดำเนินงานของ สกศ. ในหลายประเด็น เช่น ผลการศึกษาแนวโน้มความต้องการกำลังคนโดยยึดพื้นที่เป็นฐาน สรุปผลการติดตามและประเมินการดำเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ : ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๒ รวมทั้งความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติสภาการศึกษา เป็นต้น

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด