อนุฯ เฉพาะกิจเดินหน้าปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

image

 

         วันนี้ (๒๔ เมษายน ๒๕๖๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ เพื่อการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมและมอบนโยบายเพื่อปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

  


             ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ นำโดย ศ.ศรีราชา วงศารยางกูร ศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูล และร่วมหารือกับสภาการศึกษาใน ๗ ประเด็น พบว่า ยังมีหลายประเด็นในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่จะต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้แก่ ๑. ทักษะการอ่าน เขียน การคิด วิเคราะห์ คิดเชิงคณิตศาสตร์ คิดอย่างมีเหตุผล คิดแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน (Coding) ๒. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม ๓. การผลิตและพัฒนาครู ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๔. การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของไทย มาสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบให้เกิดขึ้น ๕. การดูแลเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดาให้ได้รับโอกาสที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ๖. การอาชีวะเกษตร โดยให้ความสำคัญกับ localization ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.๙ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง และเป็น ๑ ใน ๖ ประเทศที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก โดยการใช้ STI (Science Technology Innovation) มาช่วยสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตให้ยั่งยืน ๗. การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ทำให้สังคมโลกและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทำอย่างไรจะทำให้คนไทยรวมถึงเด็กไทยมีความพร้อมที่จะเผชิญกับเรื่องเหล่านี้ได้ในอนาคต จึงหวังว่าข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ สกศ. จะได้ผลักดันให้สมกับที่เป็นขงเบ้งแห่งการศึกษาไทย ต่อไป

 


ด้านศาสตราจารย์ คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า การศึกษาที่ดีจะต้องช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทำอย่างไรที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จและเป็นจริงได้ จากการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ในขณะนี้เราพบว่า ประเทศไทยไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้เองได้ จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ ๙๕ เราจึงต้องสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น  ให้ได้เพื่อลดการนำเข้าในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดภาวะวิกฤติเช่นนี้ในอนาคต การอุดมศึกษาจะต้องนำนวัตกรรมที่มีอยู่ไปต่อยอดให้ได้ การจะทำให้เด็กไทยสามารถผลิตนวัตกรรมต่างๆ ได้การศึกษาปฐมวัยจึงถือเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง และการปฏิรูปการศึกษาจะต้องทำให้สำเร็จภายใน ๓ – ๕ ปี 


ด้านศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า จากการที่คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมประชุมหารือกับสภาการศึกษาใน ๗ ครั้งในประเด็นของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าแผนฉบับดังกล่าวยังมีประเด็นที่จะต้องเพิ่มเติมเพื่อให้มีความสมบูรณ์ จึงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา ๔ คณะ ประกอบด้วย ๑. คณะทำงานปฏิรูประบบการศึกษา ระบบการเรียนรู้ และระบบการสอบวัดผล ๒. คณะทำงานปฏิรูประบบการผลิต การใช้ และการพัฒนาครู ๓. คณะทำงานปฏิรูประบบ Big data และ Platform และ   ๔. คณะทำงานปฏิรูปกฎหมายและโครงสร้างการบริหาร เพื่อจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและจัดทำรายงานผลการศึกษาโดยมีระยะเวลาการทำงาน ๒ เดือน (พ.ค. – มิ.ย. ๖๓) และเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเพิ่มเติม จากนั้นจะนำเสนอกรรมการสภาการศึกษาต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด