เลขา สกศ. ร่วมประชุมทางไกลกับ OECD สมัยที่ ๒๗ การจัดการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid - 19
วานนี้ (๒๓ เมษายน ๒๕๖๓) เวลา ๑๒.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. ตามเวลาประเทศฝรั่งเศส หรือ ๑๗.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ตามเวลาประเทศไทย ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษาของ OECD และข้าราชการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการสังเกตการณ์การประชุม (Observation) ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สมัยที่ ๒๗ (Education Policy Committee – 27th Session Video Conference) ในรูปแบบการประชุมทางไกล (Remoted Session) ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 จึงทำให้ OECD ไม่สามารถจัดการประชุมปกติได้
สาระสำคัญของการประชุมมีดังนี้
๑. การพิจารณาเค้าโครงการจัดสรรงบประมาณและการดำเนินงานประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของคณะกรรมการ EDPC ในรอบปี 2021 - 2022 (Programme of Work and Budget 2021 – 2022) ใน ๒ ประเด็นหลัก ได้แก่ การศึกษา เศรษฐกิจและสังคม และการสร้างทักษะของแรงงานผู้ใหญ่ โดยที่ประชุมให้ความสำคัญด้านการดำเนินงานและงบประมาณกับโครงการสำคัญ ๓ โครงการ ได้แก่ ๑.) การผลักดันกรอบการดำเนินงานโครงการ Future of Education and Skill 2030 ๒.) การส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนปฐมวัยในโลกดิจิทัล (Early Childhood Education and Care in Digital World) และ ๓.) การส่งเสริมศักยภาพการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (Enhancing Higher Education Performance)
๒. ข้อเสนอการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องนโยบายการศึกษา (Meeting of the Education Policy Committee (EDPC) at Ministerial Level) ซึ่ง OECD เสนอให้จัดขึ้นในปี 2022 โดย OECD ได้รายงานว่าการประชุมในระดับรัฐมนตรีครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อปี 2005 หรือเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมากแล้วและนโยบายการศึกษาของประเทศสมาชิกได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ประชุมได้หารือกันถึงรูปแบบการจัดประชุมและการจัดสรรบประมาณ ซึ่งมีการเสนอให้จัดในรูปแบบคู่ขนานกับการประชุม Education Policy Dialogue และเป้าประสงค์ของการประชุมในระดับรัฐมนตรีควรเป็นการเน้นย้ำเจตจำนงค์ของที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาในการประชุมครั้งก่อนและรายงานถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในการการจัดนโยบายการศึกษาของประเทศสมาชิก อย่างไรก็ดีสิ่งที่ที่ประชุมต้องการให้ประเทศสมาชิกพิจารณาในการประชุมครั้งนี้คือ ความเห็นต่อข้อเสนอการจัดการประชุม และความสามารถในการสนับสนุนการประชุมของประเทศสมาชิกในด้านต่างๆ อาทิ การเป็นเจ้าภาพ การให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ เป็นต้น โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาในวาระนี้เป็นการเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิกภายหลังจบการประชุมทางไกล และคาดว่าจะเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการบริหารของ OECD เพื่อพิจารณาอนุมัติการดำเนินงานต่อไป
๓. การดำเนินงานโครงการของ EPDC เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาด Covod-19 เนื่องด้วยระบบการศึกษาของโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างใหญ่หลวงจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ทำให้ประเทศสมาชิก OECD ๓๕ ประเทศ และประเทศผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถดำเนินการจัดการศึกษาได้ตามปกติ ที่ประชุมจึงให้ความสำคัญกับการวางแผนการเผชิญเหตุเฉพาะกาลในการจัดการศึกษาในปีการศึกษา 2020 - 2021 เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยมีจุดมุ่งเน้นร่วมกัน ๔ ข้อ ได้แก่
๓.๑ การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ส่วนบุคคล (Self-Inquiry) และความสามารถในการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินของระบบการศึกษา (Education Resilience) เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งส่งผลให้ทุกประเทศต้องปรับเปลี่ยนภาคการศึกษาและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้งในและนอกชั้นเรียนให้สอดคล้องกับแนวคิด Social distancing
๓.๒ การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล การเรียนรู้ผ่านระบบแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์การสื่อสารเคลื่อนที่ เนื่องจากเป็นวิถีทางเดียวที่จะทำให้ผู้เรียน โดยเฉพาะนักเรียนในระบบสามารถดำเนินกิจกรรมการศึกษาได้ตามแผนการดำเนินการของปีการศึกษานั้นๆ ดังนั้นระบบการศึกษาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและเพิ่มพูนความชำนาญของครูผู้สอนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง
๓.๓ การสร้างหลักประกัน เพื่อการจัดการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (Equity) โดยเฉพาะเด็กยากจน คนพิการ และกลุ่มสตรี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเสียเปรียบจากระบบเดิมอยู่แล้ว
๓.๔ การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมและเพียงพอ เนื่องด้วยประเทศต่างๆ ต้องเร่งรัดการฟื้นฟูและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งในขณะเดียวกันอาจต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการจัดนโยบายด้านการศึกษา