คุณหญิงโค้ดดิ้ง หัวโต๊ะประชุมสภาการศึกษา สั่งปรับทัพอนุกรรมการ ฯ ขับเคลื่อนงานสอดรับ ๗ วาระปฏิรูปการศึกษา
วันนี้ (๒๗ มีนาคม ๒๕๖๓) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นายคมกฤช จันทร์ขจร) พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ กกส. ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ร่วมประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ ๒ โดยก่อนหน้านี้เคยเดินทางมามอบนโยบายแก่ผู้บริหาร สกศ. เป็นครั้งแรก ภายหลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ โดยแสดงความชื่นชมผลงาน สกศ. ยกย่องเป็น "ขงเบ้ง" แห่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีบทบาทสำคัญในการชี้นำทิศทางการศึกษาของชาติ และพัฒนาคนไทยที่มีคุณภาพสอดรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑
พร้อมเน้นย้ำขับเคลื่อนงานการศึกษาชาติ ๔ วาระสำคัญ ๑) ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนด้วยวิทยาการคำนวณ หรือโค้ดดิ้ง (Coding) สำหรับผู้เรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ๒) ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในโรงเรียน ๓) เร่งเสริมสร้างทักษะเดิมที่มีอยู่ ให้ยังสามารถใช้กับโลกยุคปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Upskill) และการเพิ่มทักษะใหม่ (Reskill) ใช้การพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Skill, Technology & Innovation หรือ STI) สร้างงาน สร้างรายได้ และ ๔) ส่งเสริมงานจิตอาสา สร้างความตระหนักให้เด็กเข้าใจหน้าที่พลเมืองที่ดีสอดคล้องการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑
ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาทั้ง ๗ วาระ ได้แก่ ๑) การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของ ประเทศโดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายรอง ๒) การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ๓) การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ๔) การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ๕) การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตามสนองความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑
๖) การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา และ ๗) การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล เพื่อสร้างผลกระทบและขยายโอกาสการเรียนรู้ในทุกระดับการศึกษาครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และสอดรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุฯ กกส.) ที่สอดรับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ กกส.ได้หารืออย่างกว้างขวางและรอบด้าน เห็นชอบร่วมกันนำประเด็น ๗ วาระการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเป็นฐานคิดเพื่อปรับรูปแบบการจัดตั้งคณะอนุฯ กกส. พร้อมควบรวมคณะอนุฯ กกส.ที่มีอยู่เดิม ๑๐ คณะ ลดเหลือ ๗ คณะเพื่อสร้างเอกภาพการขับเคลื่อนงานอย่างสอดคล้องกับวาระการปฏิรูปการศึกษาทั้ง ๗ เรื่อง ตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐) ใช้เป็นกรอบการดำเนินงานจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการศึกษาชาติ และสร้างความเชื่อมโยงงานทั้ง ๗ ด้าน สนับสนุนบทบาท สกศ. แปลงนโยบายสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมตามลำดับ โดยมอบหมายเลขาธิการสภาการศึกษา ไปพิจารณาแต่งตั้งเพิ่มเติมอนุฯ กกส.เฉพาะกิจเพื่อการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของ สกศ. ในหลายด้าน อาทิ ผลการศึกษาแนวโน้มความต้องการกำลังคนโดยยึดพื้นที่เป็นฐาน การจัดทำ "แผนการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านการศึกษาตามช่วงวัยเพื่อการมีงานทำ พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๗๐" แผนการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓
ความก้าวหน้าการพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ - ๖ สรุปผลการติดตามและประเมินการดำเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ ช่วงปี ๒๕๖๐ - ๒๕๖๒ การดำเนินงานตามมติสภาการศึกษา การดำเนินงานตามตัวชี้วัดของ สกศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓
พร้อมรับทราบการลาออกของอนุฯ กกส.ด้านบทบาทของประชาสังคมเพื่อการศึกษา จำนวน ๒ ท่าน คือ นายมณเฑียร บุญตัน และ นางจิราภรณ์ เล้าเจริญ ขณะที่ ศาสตราจารย์สุพจน์ หารหนองบัว ลาออกตำแหน่งอนุฯ กกส.ด้านมาตรฐานการศึกษาและการจัดการเรียนรู้