สกศ. X ผู้ทรงคุณวุฒิ ติวเข้ม 26 หน่วยงาน สร้างสรรค์นวัตกรรมต้นแบบ ตอบโจทย์ DQ Open Innovation 2025

วันที่ 29 เมษายน 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการออกแบบและวางแผนการพัฒนานวัตกรรมแบบเปิดเพื่อพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัล (DQ Open Innovation 2025) โดยมี ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา รศ.อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี รองผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (TCU) นางสาวปัทมาวดี พัวพรหมยอด ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร บุคลากรสถานศึกษาและหน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการพัฒนานวัตกรรมแบบเปิดเพื่อพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัล จำนวน 26 แห่ง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบผสมผสานออนไลน์และออนกราวด์ ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย สกศ.
รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมความฉลาดทางดิจิทัลเพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบที่ต่อยอดและสะท้อนบริบทของสถานศึกษาได้อย่างเหมาะสม มีแนวทางการดำเนินงานภายใต้กิจกรรม DQ Open Innovation 2025 โดยมี DQ Framework ใน 8 ด้าน ได้แก่ ตัวตนดิจิทัล การใช้งาน ความปลอดภัย ความมั่นคง ความฉลาดทางอารมณ์ การสื่อสาร การรู้ และสิทธิทางดิจิทัล ที่ต้องปรับใช้กับความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ความเป็นพลเมืองดิจิทัล ความคิดสร้างสรรค์ทางดิจิทัล และความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล เน้นมีทักษะด้านดิจิทัลสำหรับชีวิตประจำวันได้อย่างรอบด้าน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการการะทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เน้นย้ำถึงการเรียนรู้ในทุกช่วงวัยและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงการใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ในทุก ๆ มิติได้อย่างยั่งยืน
ดร.ภูมิพัทธ กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นเวทีให้สถานศึกษาได้แลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนานวัตกรรมสำหรับส่งเสริมความฉลาดทางดิจิทัล มุ่งพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลในสถานศึกษาตามกรอบ DQ Framework ที่ปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งความฉลาดทางดิจิทัลเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนสู่เป้าหมายมาตรฐานการศึกษาชาติ 3 ด้าน ที่ต้องเชื่อมโยงเชิงระบบ ทั้งระบบนิเวศ นโยบาย และการปฏิบัติในสถานศึกษา การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นต้นแบบสำคัญเพื่อนำไปขยายผลเชิงนโยบายต่อไป
รศ.อนุชัย กล่าวว่า ความฉลาดทางดิจิทัล DQ เป็นชุดความสามารถที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงานในโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งประกอบด้วยความสามารถทางสังคม อารมณ์ การเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา เปรียบเสมือน "ภูมิคุ้มกัน" และ "ทักษะชีวิต" ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 การพัฒนา DQ เน้นแนวทางที่ยืดหยุ่น ปรับให้เหมาะสมตามช่วงวัย ต้องมีการบูรณาการกับการเรียนรู้ต่าง ๆ และเน้นการลงมือปฏิบัติพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ได้มีการวัดและประเมินผลหลากหลายรูปแบบที่มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะหลักเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการพัฒนา DQ
นางสาวปัทมาวดี กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด Open Innovation ได้มีวิวัฒนาการนำไปสู่ความหลากหลายตามช่วงเวลาและการมุ่งเน้นที่แตกต่างกัน การพัฒนานวัตกรรมนั้นมีวิวัฒนาการจากเน้นผลิตภัณฑ์ไปสู่บริการและสังคมตามการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นตั้งแต่การผลิต ลูกค้า และประโยชน์ต่อสังคม ที่นำไปสู่ประเภทของนวัตกรรมที่หลากหลายมากขึ้นในแต่ละยุคสมัย ได้ยกหลักสูตรพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชนไทยที่ต้องการก้าวไปเป็นนวัตกร โดยการบูรณาการความรู้ความเข้าใจทางด้านสตีมศึกษา ได้แก่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ กับองค์ความรู้พื้นฐานทางธุรกิจ และสะท้อนให้เห็นถึงการนำนวัตกรรมไปใช้ให้ตรงกับเป้าหมายอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
จากนั้นมีการแบ่งกลุ่ม Work shop ของสถานศึกษาและหน่วยงานทั้ง 26 แห่ง และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษา โดยแบ่งกลุ่มตามประเภทนวัตกรรม เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 นวัตกรรมด้านแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ มีรศ.อนุชัย และนางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรกลุ่ม กลุ่มที่ 2 โมเดล รูปแบบ กิจกรรมการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ มีรศ.ดร.มารุต พัฒผล อาจารย์จากมหาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ผศ.ดร.จำรัส อินทลาภาพร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม เป็นวิทยากรกลุ่ม กลุ่มที่ 3 อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน มีรศ.ดร.จารุณี ซามาตย์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และรศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรกลุ่ม ในการนี้ข้อเสนอแนะที่ได้รับจะช่วยออกแบบและวางแผนการพัฒนานวัตกรรม พัฒนาทักษะเพื่อสามารถพัฒนาบุคลากรเป็นแกนนำการพัฒนาไปยังผู้เรียน ชุมชน เพื่อนครูทั้งภายในภายนอกสถานศึกษา และสร้างเครือข่ายการพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลสู่การปฏิบัติในระดับสถานศึกษาและเป็นต้นแบบให้สถานศึกษาอื่น ๆ รวมทั้งมีข้อมูลสำหรับพัฒนานโยบายด้านการส่งเสริมความฉลาดทางดิจิทัลในภาพรวมของประเทศต่อไป

