สกศ. ผนึกกำลังภาคี ลุยพื้นที่ตะวันออก เดินหน้าพัฒนากฎหมายการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว – เด็กปฐมวัย - พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

วันที่ 23-25 เมษายน 2568 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กต่างด้าว การจัดการศึกษาปฐมวัยและการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562” โดยมี นายวีระ พลอยครบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิจัยและพัฒนาการศึกษา นายโกวิท คูเพนียด ผู้อำนวยการสำนักนิติการ สป.ศธ. นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ. พร้อมผู้บริหาร ครู ผู้แทนจากหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพื้นที่ภาคตะออกและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในรูปแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออนกราวด์ ณ โรงแรมแทมมารินด์ การ์เด้น จังหวัดระยอง
นายธฤติ กล่าวว่า สภาการศึกษาได้รับมอบหมายภารกิจให้ติดตาม ประเมินผลการบังคับใช้ พร้อมจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนากฎหมายการศึกษา สำหรับในปี พ.ศ.2568 นี้ สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สกศ. ดำเนินภารกิจประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กต่างด้าว โดยประเด็นดังกล่าวตอบรับแนวนโยบายของ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันที่ 23 เมษายน 2568 ผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาในเขตพื้นที่ภูมิภาคตะวันออกและพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “สภาพปัญหาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กต่างด้าว” นางสาวณัฐิกา กล่าวถึงความเชื่อมโยงกฎหมายกับการจัดการศึกษาของเด็กต่างด้าว โดยกฎหมายว่าด้วยการศึกษาชาติกำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กทุกคนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทั้งนี้สภาการศึกษาได้คาดการณ์ทิศทางการศึกษาในอนาคต เด็กนักเรียนที่ไม่ใช่สัญชาติไทยจะเป็นกำลังคนสำคัญในการตอบสนองความต้องการของภาคแรงงาน นายวีระกล่าวเสริมว่าการจัดการศึกษาต้องครอบคลุมตั้งแต่กการเข้ารับการศึกษาจนเด็กจบการศึกษา อีกทั้งต้องคำนึงถึงมิติต่าง ๆ เช่น แนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษา แนวทางการสอนของครู รวมไปถึงการเข้าสังคมของเด็ก ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญในการสะท้อนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่อไป
ต่อมาผู้บริหาร ครู และผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษา ร่วมสะท้อนปัญหาการจัดการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ดังนี้ การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง ขาดความรู้การเข้าถึงสิทธิหรือสวัสดิการของตน ช่วงอายุเกินเกณฑ์แต่ต้องศึกษาในระดับชั้นเริ่มต้นเพื่อปรับพื้นฐานภาษา และร่วมเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การจัดการฐานข้อมูลของกลุ่มเด็กนักเรียนรหัส G ให้สอดคล้องกับระบบ DMC (Data Management Center) การคัดกรองเด็กตั้งแต่เข้ารับการศึกษาและติดตามประเมินผลพร้อมปรับการเรียนรู้ให้เหมาะสม การประสานความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่ เสริมความรู้ความเข้าใจให้ครูผู้สอนเพื่อใช้ประยุกต์การจัดการเรียนการสอน พร้อมทั้งปลูกฝังให้เด็กนักเรียนไทยและไม่ใช่สัญชาติไทยเกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในการแลกเปลี่ยนพหุวัฒนธรรมร่วมกัน
วันที่ 24 เมษายน 2568 ที่ประชุมร่วมอภิปราย เรื่อง “สภาพปัญหาในการจัดการศึกษาปฐมวัย” โดยนางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย สกศ. กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้เกิดพัฒนาการในทุกด้านอย่างมีคุณภาพ ซึ่งใช้ พรบ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 แผนการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564-2570 และมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด
นายโกวิท กล่าวถึงความสำคัญในการประเมินการบังคับใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวพร้อมนำผู้เข้าร่วมประชุมร่วม “ประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562” เพื่อปรับปรุง พัฒนากฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อพัฒนาการที่ดีของเด็กทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้ การปลูกฝังให้เด็กปฐมวัยเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัวเกิดความหวงแหนท้องถิ่นเพื่อปูพื้นฐานการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมโลก มิติเกี่ยวกับผู้ดูแลเด็กปฐมวัยในการประเมินคุณลักษณะ พื้นฐานการจัดการอารมณ์ พร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้ เพื่อการดูแลเด็กปฐมวัยให้ถูกวิธี นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่ ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดป่าประดู่ หน่วยงานได้รับการสนับสนุน และมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในเขตพื้นที่ทั้งส่วนท้องถิ่นและสาธารณสุข รวมถึงมีแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้เด็กเกิดความหวงแหนวัฒนธรรม ทรัพยากรในท้องถิ่นโดยผ่านการจัดการเรียนรู้เชิงปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับเด็ก
วันสุดท้ายมีการอภิปรายในประเด็น เรื่อง “สภาพปัญหาในการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562” สำหรับการขับเคลื่อนในแต่ละจังหวัด ประกอบด้วยคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ร่วมประสานหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม นายพิทักษ์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ รวมถึงอำนาจหน้าที่และกระบวนการดำเนินการ ซึ่งผู้แทน อปท. สพฐ. และสช.ร่วมสะท้อนมุมมอง พบว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จัดเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการจัดการศึกษาในเชิงพื้นที่ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษา เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการจัดสรรงบประมาณ หลักเกณฑ์ที่ไม่สนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาในการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ดังกล่าว
จากนั้นได้ลงพื้นที่โรงเรียนวุฒินันท์ เป็นสถานศึกษานำร่องภายใต้โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดระยอง มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนและความต้องการของผู้เรียน เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับผู้เรียน
การร่วมประเมินการบังคับใช้กฎหมายและสะท้อนความคิดเห็นครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์ รวมทั้งการประสานความร่วมมือและบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สภาการศึกษาจะนำข้อมูลที่ได้รับการเสนอแนะปใช้ในการปรับปรุง พัฒนา นโยบายและกฎหมายการศึกษาให้ตอบโจทย์ผู้ปฏิบัติ ยกระดับการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสู่การยกระดับทุนมนุษย์ต่อไป

