สกศ. นัดหารือแนวทางขับเคลื่อนกฎหมาย ยกระดับการศึกษาไทยให้เท่าเทียม

image

วันที่ 25 เมษายน 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อยกระดับการศึกษาเท่าเทียม โดยมีนายเนติ รัตนากร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สกศ.  

รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม พ.ศ. .... เกิดขึ้นจากนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างการเรียนการสอนในเขตชนบทและเขตเมือง โดยวันนี้จะเป็นการทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่เท่าเทียม ซึ่งเดิมระบบการศึกษามีเพียงรูปแบบการศึกษาตามระดับชั้นการเรียนปกติ แต่ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้จะสร้างการศึกษาในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ การเรียนรู้จากการทำงาน จากประสบการณ์ จากองค์ความรู้ที่ได้ และนำมาสะสมเป็นหน่วยกิตและได้รับประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรได้เลย ซึ่งหน่วยงานทุกภาคส่วนของสกศ. ต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ

ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม พ.ศ. .... จัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนทางด้านทรัพยากรหรือบุคลากร การเข้าถึงการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งยังส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต โดยมี 4 กลไกรองรับการศึกษาเท่าเทียม
1) ส่งเสริมการจัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาของผู้เรียน ลดปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา และรองรับการให้ปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรรับรองทักษะแก่ผู้เรียนที่จบการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
2) ใช้กลไกธนาคารหน่วยกิตในการโอนผลการเรียนที่ได้จากการศึกษาทั้ง 3 ระบบ หรือผลลัพธ์การเรียนรู้จากการศึกษา/อบรม/การสะสมประสบการณ์/การประกอบอาชีพ โดยสามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถานศึกษาได้
3) จัดให้มีแฟ้มสะสมผลการเรียนรู้ผ่านระบบการติดตามข้อมูลเด็กอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการต่อยอดในสายอาชีพ
4) จัดให้มีระบบการสอบเทียบเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เรียนในการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานหรืออาชีวศึกษา ตลอดจนอุดมศึกษา

โดยในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมนำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม พ.ศ. .... เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา

จากนั้นเป็นการรับฟังความคิดเห็นแนวทางในการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม พ.ศ. .... โดยมีความเห็นที่น่าสนใจ เช่น การเพิ่มนิยามคำว่า “การศึกษาเท่าเทียม” ทบทวนคำว่า "การศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ" ว่าความหมายครบคลุมกับสภาพการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ดูแลการบริหารงบประมาณที่จะทำให้การเท่าเทียมเกิดขึ้นได้จริง ทบทวนเป้าหมายในการจัดทำร่างพ.ร.บ. เพื่อให้มีความสอดคล้องกับพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ข้อมูลการศึกษาที่เชื่อมโยงกันหมดโดยใช้หมายเลขประจำตัว 13 หลัก โดยการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม พ.ศ. .... และนำข้อเสนอแนะที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนกฎหมาย ยกระดับการศึกษาไทยให้เท่าเทียมกับนานาชาติต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด