สภาการศึกษาจับมือภาคีอีสาน รับรองมติ “Learn to Earn – Learning City” พร้อมเปลี่ยนแปลงการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน

วันที่ 24 – 25 เมษายน 2568 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดประชุมยกระดับกลไกการมีส่วนร่วมสมัชชาสภาการศึกษาระดับภูมิภาค (Regional Education Assembly) ครั้งที่ 2 : ภาคอีสาน จังหวัดสกลนคร โดยมี นายศราวุธ สุวรรณจูฑะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และบุคลากรทางการศึกษาจากทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประชุม ณ วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร จังหวัดสกลนคร
วันแรกของการประชุมมีกิจกรรม “Focus Group” แบ่งกลุ่มย่อยเพื่ออภิปรายเชิงลึก 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงสมัชชากับท้องถิ่นเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน, 2) การขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต, 3) การพัฒนาระบบนิเวศชุมชนสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ 4) พลังเยาวชนกับการศึกษาท้องถิ่น โดยมีภาคีเครือข่าย นักวิชาการ และผู้แทนเยาวชนเข้าร่วมอย่างหลากหลาย เพื่อรวบรวมข้อเสนอและข้อคิดเห็นเชิงพื้นที่ นำไปสู่การกำหนดมติร่วมกันในวันถัดมา
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้เป้าหมายการขับเคลื่อน “แนวคิดใหม่ ปรับเปลี่ยนการศึกษาให้สอดรับบริบทพื้นที่” ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ขับเคลื่อนนโยบายเชิงพื้นที่ และรับฟังข้อเสนอจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ประเด็นสำคัญในการบรรยาย OEC Talk หัวข้อ “สภาการศึกษา : เปิดแนวคิด พิชิตปัญหาการศึกษาในพื้นที่ ด้วยการพัฒนากลไกขับเคลื่อนสมัชชาสภาการศึกษา” โดย ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ และวงเสวนา “Growth Together : คิดนอกกรอบ ร่วมลงมือทำ ปั้นอนาคตการศึกษาพื้นที่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน” โดย นายสถิต สำราญสุข ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 นายยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ ประธานกลุ่ม “สกลเฮ็ด” และนายศิวกร สุ่มทรัพย์ ประธานองค์การนักวิชาชีพในอนาคต แห่งประเทศไทย ประจำปี 2568 มีเนื้อหาคัดสรรความสำเร็จด้านการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่รูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมงานคราฟต์เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของสกลเฮ็ด
ที่ประชุมได้ร่วมรับรองและประกาศ 2 มติสำคัญ ได้แก่ 1) การสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้ (Learn to Earn) โดยมุ่งให้สถานศึกษาจัดการเรียนรู้เชิงพื้นที่ที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นและเชื่อมโยงสู่โอกาสอาชีพ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และการค้นหาตัวตนของผู้เรียนในบริบทเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ถือเป็นการต่อยอดแนวคิดจากการประชุมฯ ครั้งก่อนที่ภาคใต้ และร่วมกันรับรองแนวคิดใหม่ 2) ระบบนิเวศการเรียนรู้ : ปัจจัยความสำเร็จของเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Learning City) ซึ่งเน้นการกำหนดประเด็นการเรียนรู้ตามบริบทเมือง ส่งเสริมผู้นำการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาระบบการจัดการองค์ความรู้อย่างมีส่วนร่วม
เวทีสมัชชาฯ ครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการจุดประกายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาภูมิภาคอีสานให้เชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยจะมีการติดตาม ต่อยอด และพัฒนาข้อเสนอไปสู่การประชุมระดับภูมิภาคในพื้นที่อื่น ๆ และเวทีสมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติ เพื่อร่วมกันสร้างระบบการศึกษาที่ยั่งยืนและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง

