สกศ. ลุยฉะเชิงเทรา เมืองต้นแบบ Lifelong Learning สร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน

image

วันที่ 18 เมษายน 2568 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง กลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา นางสาวกิ่งกาญจน์ เมฆา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รวมถึงผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานภาคการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมบุคลากร สกศ. เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมรอยัลอิน โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล จังหวัดฉะเชิงเทรา

ดร.นิติ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งโครงสร้างของประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นการจัดการศึกษาที่สนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งตรงกับนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้คนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ และทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาทักษะ เพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพการศึกษา ซึ่งในแนวคิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เองก็สอดคล้องกับเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO Institute for Lifelong Learning ที่สร้างความเข้มแข็งทางการศึกษาพร้อมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

จากนั้น ดร.นิติ ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง นโยบายการจัดการศึกษาตามบริบทเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education : ABE) ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันมีบทบาทในการบริหารและพัฒนาการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยมีกลไก ดังนี้ 1) บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม 2) ดำเนินงานที่สอดคล้องบริบทพื้นที่ และ 3) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งมีเป้าหมายตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ดังนั้นการใช้ทรัพยากรและความร่วมมือของทุกภาคส่วนมีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ของประชาชนเชิงพื้นที่ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของเมืองแห่งการเรียนรู้ 

ต่อมาผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมอภิปรายและระดมความคิดเห็นประเด็นกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยมี ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผศ.ครรชิต มาระโภชน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ นายยุทธนา มาตเจือ ประธานหอการค้าฉะเชิงเทรา และนายตนย์ ทักศินาวรรณ หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา โดยได้ร่วมถอดบทเรียนประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก ในด้านปัจจัยความสำเร็จและถือเป็นกุญแจสำคัญของเมืองแห่งการเรียนรู้สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการส่งเสริมศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา (KKC) และความร่วมมือของภาคีเครือข่ายพัฒนาเมืองฉะเชิงเทราซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน นอกจากนั้นการยกระดับจุดเด่นที่พบในพื้นที่ทั้งด้านทรัพยากรและวัฒนธรรมโดยปลูกฝังให้คนในพื้นที่เกิดความสนใจ เรียนรู้ พัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนจัดเป็นกลไกสำคัญเช่นกัน สำหรับการบูรณาการความร่วมมือแนวทางการดำเนินงานของทุกภาคส่วนจัดเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารจัดการศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิตของจังหวัดฉะเชิงเทราเช่นกัน

จากการร่วมถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะรวบรวมข้อมูลแนวทางการบูรณาการการทำงานและกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นเมืองฉะเชิงเทรา เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษา พัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับคุณภาพและพัฒนาทุนมนุษย์ต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด