สกศ. เร่งทบทวนผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ
วันที่ 8 - 10 เมษายน 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (DOE) ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 โดยมีวิทยากร ได้แก่ ผศ.ดร.กอบสุข คงมนัส ผศ.ดร.อังคณา อ่อนธานี รศ.ดร.มารุต พัฒผล ผศ.ดร.วนินทร พูนไพบูลย์พิพัฒน์ และนางโชติกา วรรณบุรี ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ร่วมประชุมรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออนกราวด์ ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย สกศ.
รศ.ดร.ประวิต กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561 กำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (DOE) คุณลักษณะของคนไทยสำหรับประเทศไทย 4.0 ที่ตอบสนองวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สกศ. จะรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเสนอแนะประสบการณ์จากกลุ่มเป้าหมายที่สะท้อนความสำคัญทักษะในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็งที่สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
การจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ การพัฒนามาตรฐานการศึกษาของชาติ รวมถึงแนวทางการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ในอนาคต มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้แทนแต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาให้ข้อมูล ดังนี้
กลุ่มผู้เรียน ทักษะที่ต้องการพัฒนาเพื่ออาชีพในฝัน เสนอว่า อยากเป็นพลเมืองโลกที่เก่งมีความรู้รอบตัว มีความรู้การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีทักษะหลายภาษา ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเอาตัวรอดที่สามารถจัดการตนเองได้ มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง รู้จักการวางแผนชีวิตตนเองได้รับการพัฒนาทักษะสู่การประกอบอาชีพในอนาคต มีจิตอาสา
กลุ่มผู้ปกครอง ความคาดหวังต่อการศึกษา เสนอว่า การศึกษาช่วยให้บุตรหลานนำสิ่งที่เรียนไปปรับใช้และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ สามารถเอาตัวรอด มีความรู้ ทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะการคิดวิเคราะห์ ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ควรปรับหลักสูตรให้ทันสมัยตามพัฒนาการของเด็ก ค้นพบศักยภาพของเด็กเพื่อเลือกแนวทางอาชีพที่เหมาะสม นอกจากนี้มีข้อเสนอให้มีการกระจายอาจารย์และบุคลากรที่มีความสามารถไปยังสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ
กลุ่มผู้สอน ทบทวนผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ เสนอว่า ควรวัดและประเมินผลผู้เรียนระหว่างการเรียนรู้ เพื่อประเมินความก้าวหน้าเป็นระยะ และพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ครูควรใช้เครื่องมือหลากหลายในการวัดและประเมินผู้เรียนโดยผ่านโครงงานเพื่อให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ เน้นการปฏิบัติ พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา พัฒนาทักษะชีวิตให้ทันสมัย พัฒนาระบบการศึกษาไทยทำให้เกิดการพัฒนา DOE ของผู้เรียน
กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา ทบทวนผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ เสนอว่า ต้องมีความรอบรู้ ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการตนเอง ทักษะการทำงานเป็นทีม การสื่อสาร การคิดขั้นสูง ส่งเสริมให้เป็นนักนวัตกรรม มีทักษะความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการบูรณาการข้ามศาสตร์ ทักษะด้านเทคโนโลยี การรู้เท่าทันสื่อ
กลุ่มผู้บริหารเขตพื้นที่/จังหวัด/เทศบาล ฯ ทบทวนผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ เสนอว่า ในการจัดทำมาตรฐานการศึกษาต้องอิงจากมาตรฐานการศึกษาของชาติเป็นหลัก ดังนั้นต้องมีคู่มือมาตรฐานการศึกษา สถานศึกษารับรู้และนำไปใช้ โดยปรับตามบริบทพื้นที่ สำหรับอาชีวศึกษาจะมีเรื่องสมรรถนะอาชีพที่ต้องอิงคุณวุฒิวิชาชีพ การประกันคุณภาพทุกสาขาอาชีพต้องมีมาตรฐานของตนเอง
กลุ่มผู้แทนหน่วยงานต้นสังกัดส่วนกลาง ทบทวนผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ เสนอว่า ทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญของการสร้างความตระหนักและการสื่อสารมาตรฐานการศึกษาชาติให้เข้าใจตรงกันในทุกระดับ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เสนอให้ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงของมาตรฐานชาติกับมาตรฐานของแต่ละสังกัด หลักสูตร และกระบวนการประกันคุณภาพ สกศ.ควรพิจารณาหลักคิด หลักการ และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับปรุงมาตรฐานให้มีความชัดเจนและเป็นเหตุเป็นผลยิ่งขึ้น
กลุ่มนักวิชาการ ทบทวนผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ เสนอว่า การทบทวนมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติเน้นความสำคัญของการกำหนดทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตอย่างชัดเจน ครอบคลุม และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละระดับการศึกษา และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มผู้ประกอบการและภาคเอกชน ความคาดหวังให้คนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษามีสมรรถนะหรือคุณลักษณะในการทำงานร่วมกับองค์และตลาดแรงงาน เสนอว่า ความซื่อสัตย์ ความเป็นมืออาชีพ มีใจรักการบริการ เคารพกฎระเบียบ อดทนในการเรียนรู้งานใหม่และภาวะความกดดัน ทัศนคติที่ดีต่อการทำงานและการเรียนรู้ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ยังต้องมีทักษะในการลงมือการปฏิบัติงานในสายงานที่เรียนมา ทักษะด้านดิจิทัล ด้านภาษาอังกฤษ ด้าน Soft Skills และ Future Skills
สกศ. จะดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและของต่างประเทศ เพื่อให้ได้แนวทางการปรับปรุงผลลัพธ์ทางการศึกษาที่พึงประสงค์ของมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ต่อไป

