สกศ. X มธ. เปิดข้อเสนอเชิงนโยบายสถานศึกษาหลัง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมบังคับใช้

image

วันที่ 9 เมษายน 2568 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการศึกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม กับการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ของสถานศึกษา โดยมี ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย นางโชติกา วรรณบุรี ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ คณะผู้วิจัย ผู้แทนหน่วยงานภาคการศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สื่อมวลชน นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

นางโชติกา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองที่จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในสถานศึกษาให้เอื้อต่อการนำพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการศึกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม โดยได้รับเกียรติจากคณะอาจารย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้นำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การประชุมครั้งนี้รับทราบข้อมูลปัจจุบัน รวมทั้งแนวโน้มการศึกษาไทยในอนาคตที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อนำไปพัฒนาจัดทำเป็นข้อเสนอแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการศึกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมที่เหมาะสมต่อไป

ที่ประชุมได้ร่วมหารือภายใต้หัวข้อ “ถ้าการศึกษาเห็นเพศเป็นกลางและหลากหลาย : บทบาทของระบบการศึกษาไทย หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้” โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม มีประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ 1) หลักสูตร การสอน เนื้อหาการเรียนรู้ 2) บรรยากาศการเรียนรู้ในชั้นเรียน 3) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู 4) นิเวศการเรียนรู้ในและนอกชั้นเรียน 

จากการประชุมมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น สถานศึกษายังใช้คำเรียกบุคคลที่ส่งเด็กเข้าเรียนว่าบิดามารดาซึ่งไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จึงมีแนวคิดที่จะนำคำว่า “บุพการีลำดับแรก” มาหารืออีกครั้ง เป็นการลดความคาดหวังที่ครูมีต่อเด็กทำให้เด็กสามารถเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริง เพิ่มนักจิตวิทยาในโรงเรียน สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย ไม่ส่งเสริมการแบ่งแยกเรื่องเพศ การแต่งกาย เด็กเก่ง/ไม่เก่ง ใช้หลักสูตรการเรียนรู้แบบเดิมแต่เสริมเรื่องความหลากหลาย ทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อนและสร้างความเข้าใจไปด้วยกัน

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด