สกศ.xภาคีเครือข่ายจัดการศึกษาจัดทำข้อมูลและสารสนเทศดิจิทัลทางการศึกษา ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

เมื่อวันที่ 2 – 4 เมษายน 2568 สำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาลงพื้นที่จังหวัดพิจิตรเพื่อจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำข้อมูลและสารสนเทศดิจิทัลทางการศึกษาเพื่อยกระดับขีดความสามารถ
ในการแข่งขันของประเทศไทย” โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการภาค 17 สำนักงานศึกษาธิการภาค 18 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพิจิตร สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมมีพรสวรรค์ แกรนด์ โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.พิจิตร และลงพื้นที่เก็บข้อมูลในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลพหุปัญญาแห่งชาติและติดตามประเมินผลการจัดการเรียนรู้ ณ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์
วันที่ 2 เมษายน 2568 ดร.ช่อบุญ จิรานุภาพ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา นำคณะ สกศ. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะผู้บริหาร และคณะครู โดยมี ผศ.ดร.ไชยรัตน์ ปราณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ผศ.ดร.ปพนสรรค์ โพธิพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะครู ให้การต้อนรับ พร้อมให้ข้อมูลการบริหารจัดการข้อมูลของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางจัดทำระบบฐานข้อมูลพหุปัญญาเพื่อส่งเสริมศักยภาพตามพหุปัญญาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและการส่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมมนุษย์ให้เต็มตามศักยภาพเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งต่อไป
วันที่ 3 เมษายน 2568 นายภาณุพงศ์ พนมวัน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาได้ทำการบรรยายและได้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ฝึกปฏิบัติ เรื่อง การจัดทำตัวชี้วัดเพื่อการบริหารจัดการทางการศึกษาระดับจังหวัด การนำเสนอข้อมูลและตัวชี้วัด โดยที่ประชุมได้มีการฝึกปฏิบัติการตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบข้อมูลและการประมาณค่า ค่าของตัวชี้วัด การจัดทำตัวชี้วัดเด็กที่ได้รับการศึกษา การจัดทำตัวชี้วัดเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา การกำหนดค่าเป้าหมาย แนวทางการบริหารจัดการข้อมูล มุมมองและการใช้ข้อมูล ซึ่งการจัดทำตัวชี้วัดต้องเข้าใจถึงลักษณะและรูปแบบของมูลที่นำมาใช้ในการจัดทำตัวชี้วัด สามารถอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลได้ตรงตามที่ผู้นำเสนอข้อมูลต้องการเพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนโครงการและกำหนดนโยบายทางการศึกษาในพื้นที่ พร้อมกันนี้ นายสรนันท์ กั้นเกษ นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ สดศ. ได้บรรยายถึงกระบวนการนำเสนอข้อมูลและตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงผู้รับข้อมูลเป็นสำคัญ โดยผู้เข้ารับฟังการบรรยายได้ฝึกปฏิบัติในการแปลงข้อมูลจากชุดข้อมูลที่มีความซับซ้อนให้ออกมาในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย สามารถนำไปต่อยอดในการวางแผนการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาในจังหวัดได้อย่างเหมาะสม
วันที่ 4 เมษายน 2568 นางสาวญาณนันท์ สามเพชรเจริญ นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ บรรยาย เรื่อง การอธิบายข้อมูลและตัวชี้วัดระดับจังหวัด โดยกล่าวถึงหลักปฏิบัติหลังจากการนำเสนอข้อมูลและตัวชี้วัดแล้วผู้นำเสนอสามารถอธิบายถึงคุณลักษณะความเป็นมาเป็นไปของข้อมูล รวมถึงสามารถอธิบายถึงที่มา และแนวโน้ม ตลอดจนสามารถเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมในอนาคตเพื่อสร้างผลลัพธ์การพัฒนาที่ดีต่อไป หลังจากนั้น นายสรนันท์ กั้นเกษ นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ บรรยายถึงความสำคัญ เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเปิด (OPEN DATA) ภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผ่านกระบวนการจัดลำดับชั้นความลับข้องข้อมูลจนเป็น “ข้อมูลสาธารณะ” สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ ใช้งาน วิเคราะห์ หรือดัดแปลงได้อย่างอิสระตามความต้องการข้องผู้ใช้ข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคม อีกทั้งยังเป็นการสร้างความโปร่งใสให้กับภาครัฐในการบริหารประเทศ พร้อมกันนี้ นายศิระวัฒน์ จรรยาจิรวงศ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ บรรยายถึงความสำคัญและรายละเอียดความเป็นมา เรื่อง กรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศ (DQAF) โดยเมื่อทำการเผยแพร่ข้อมูลแล้วผู้นำเสนอข้อมูลต้องมีการประเมินคุณภาพข้อมูลและสามารถเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลได้ โดยยึดหลักปฏิบัติ 3 แนวคิดหลัก คือ สภาพแวดล้อมขององค์กร กระบวนการทางสถิติ และผลสถิติทางการศึกษา อันนำไปสู่การวางแผนและพัฒนาการศึกษาในจังหวัดต่อไป

