ผนึกกำลังสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ สกศ.ร่วมศูนย์คุณธรรมและเครือข่าย เจาะลึกนิเวศการเรียนรู้ ปั้นพลเมืองคุณภาพ

วันที่ 3 เมษายน 2568 ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานงานวิชาการ “ระบบนิเวศการเรียนรู้กับการพัฒนาคุณภาพพลเมือง” พร้อมด้วย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) หน่วยงานร่วมจัดงาน ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยมี ผู้บริหาร ครู สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานส่งเสริมทางการศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน จำนวนประมาณ 400 คน ในส่วนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา นางโชติกา วรรณบุรี ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม ได้มอบเกียรติบัตรแก่หน่วยงานภาคีเครือข่ายหลักที่ร่วมสนับสนุนและเครือข่ายจังหวัด โรงเรียนทั่วประเทศที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและยั่งยืน ในการนี้ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา รับมอบเกียรติบัตร ดังกล่าว
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า เวทีวิชาการวันนี้เพื่อเป็นพื้นที่กลาง “โชว์ แชร์ เชื่อม ชื่นชม” รูปธรรมความสำเร็จของหน่วยงานองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานส่งเสริมที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ในองค์กร ชุมชน และสังคม ต่อยอดการพัฒนาพลเมืองคุณภาพ
นางโชติกา กล่าวในช่วงเสวนา “ระบบนิเวศกับการพัฒนาการเรียนรู้” ว่า สกศ. ได้วางกรอบแนวคิดของระบบนิเวศการเรียนรู้ มีองค์ประกอบหลัก 5 ส่วน ได้แก่ ผู้เรียน ผู้ปกครอง สถานศึกษา ผู้สอน สังคม และปัจจัยสนับสนุนอีก 6 ปัจจัย ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้รอบตัว ผ่านกระบวนการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ ความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการเรียนรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยได้กำหนดนโยบายและแนวทางสำหรับการส่งเสริมการเรียนรู้ข้ามวัย การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้นอกระบบอย่างเป็นระบบในทศวรรษหน้า มุ่งเน้นให้ทุกช่วงวัยเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ก้าวข้ามการศึกษาในระบบ และความยืดหยุ่นทั้งด้านวิธีการเรียนรู้และการเทียบโอน รวมถึงพัฒนาทักษะการปรับตัว ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวง พม. หน่วยงานท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ร่วมกันสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ครอบคลุม ทำงานร่วมกันในลักษณะ (Co-Creation) ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ สกศ.ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทเสนอแนะนโยบายและแนวทางด้านการศึกษา ได้นำองค์ความรู้มาสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพพลเมืองผ่านระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ในฐานะองค์กรคลังปัญญาด้านการศึกษา เพื่อสร้าง “เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ด้านกระทรวง พม. เน้นคนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน “การจัดระบบนิเวศการเรียนรู้” และครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่ สภาพัฒน์ มองว่า “การจัดระบบนิเวศการเรียนรู้” ที่มีคุณภาพที่ดีต้องความสัมพันธ์กับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยเช่นกัน
ภายในงานยังมีกิจกรรมองค์ความรู้ นวัตกรรมและสื่อส่งเสริมการเรียนรู้จากภาคีต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การแสดงนิทรรศการต่าง ๆ บูธนำเสนอผลงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบนิเวศในระดับต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่ม ส่งเสริมการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและการทำงานในยุคปัจจุบัน รวมถึงเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพพลเมืองของประเทศอย่างยั่งยืน

