สกศ. ร่วมถอดบทเรียนพัฒนาแนวทางรับรองคุณวุฒิ NQF สำหรับเยาวชนยอดทักษะฝีมือเวที WorldSkills

image

วันที่ 27 มีนาคม 2568 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อพัฒนาแนวทางการได้คุณวุฒิการศึกษาตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ: กลุ่มเยาวชนยอดทักษะฝีมือที่เข้าแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (Worldskills) โดยมี นายถาวร ชลัษเฐียร กรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เด็นโซ่ ประเทศไทย (จำกัด) ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รวมถึงผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี และบริษัท เด็นโซ่ ประเทศไทย (จำกัด) เป็นต้น และบุคลากรสกศ. เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ บริษัท เด็นโซ่ ประเทศไทย (จำกัด) จังหวัดสมุทรปราการ
 
 
ดร.นิติ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินภารกิจขับเคลื่อนกำลังคนด้วยกรอบคุณวุฒิและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนเพื่อเพิ่มโอกาสให้กำลังคนทุกช่วงวัยเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตาม NQF ให้ได้รับคุณวุฒิการศึกษาผ่านกลไกการสะสมในระบบธนาคารหน่วยกิต โดยเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนกลุ่มเยาวชนที่มีความสามารถหรือมีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพเฉพาะ เช่น นักกีฬา นักดนตรี และช่างยนต์หรือเครื่องจักรกล เป็นต้น ให้ได้รับรองคุณวุฒิการศึกษา โดยไม่ต้องเสียเวลาในระบบการศึกษาตลอดจนการมีรายได้ระหว่างเรียนจบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)
 
 
ต่อมาผู้แทนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขัน WorldSkills ที่จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาทักษะในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศ สำหรับอุตสาหกรรมในสาขาเครื่องจักกล ได้เตรียมพร้อมกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันตามคู่มือ Technical Description CNC Turning ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนการลงทะเบียน การทดสอบเบื้องต้นตั้งแต่รอบคัดเลือกถึงการแข่งขันระดับประเทศ อีกทั้งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับกระบวนการฝึกซ้อมของกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขัน WorldSkills 
 
 
นายถาวรและผู้แทนจากบริษัท เด็นโซ่ ประเทศไทย (จำกัด) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฝึกซ้อมของเยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขัน WorldSkills เนื่องจากให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์ จึงได้มีการจัดอบรมและหลักสูตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาสมรรถนะและนำไปสู่การได้รับรองคุณวุฒิการศึกษา ในขณะเดียวกันระหว่างที่ฝึกซ้อมผู้เรียนก็ยังได้รับเงินเดือน อีกทั้งหลังจบการศึกษาก็สนับสนุนให้ได้ทำงานในองค์กรต่อไป
 
 
การร่วมถอดบทเรียนและสะท้อนมุมมองเพื่อพัฒนาแนวทางการได้รับคุณวุฒิการศึกษาของเยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันในเวที WorldSkills  ซึ่งดำเนินการและขับเคลื่อนงาน 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1) การแปลงประสบการณ์จากการฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นสมรรถนะและหน่วยกิตตามระดับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
2) การแปลงผลการแข่งขันเป็นสมรรถนะและหน่วยกิตตามระดับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
ทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่แนวทางการประเมินสมรรถนะเพื่อสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ในธนาคารหน่วยกิต
 
 
 
จากที่กล่าวข้างต้น สกศ.ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องและการสนับสนุนจากอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้กลุ่มบุคคลที่มีทักษะฝีมือได้นำสมรรถนะ ความถนัด เข้าสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้เพื่อให้สำเร็จการศึกษา หรือได้รับคุณวุฒิทางการศึกษา จากการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ สกศ. จะนำข้อเสนอแนะไปพัฒนา และจัดทำประกาศของคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปเป็นแนวทางในการสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ให้กลุ่มเยาวชนยอดทักษะฝีมือให้เกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรมต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณกด “ยอมรับ” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้ เพิ่มเติม