ศธจ.ลำพูน พร้อมนำร่องขับเคลื่อน Credit Bank สู่การปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การทบทวนข้อมูลและสรุปผลการเทียบรายวิชาหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ จัดโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำพูน ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา และ ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เข้าร่วมและนำเสนอการขับเคลื่อนงานธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติและการพัฒนาหลักสูตรตาม NQF โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 80 คน จากผู้บริหารหน่วยงานทางการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบธนาคารหน่วยกิตจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สพป.ลำพูน เขต 1 และเขต 2 สพม.ลำปาง ลำพูน สำนักงางานอาชีวศึกษาจังหวัด ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สกร.จังหวัด สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัด สถาบันอาชีวศึกษา และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
ดร.สิริพงศ์ ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนงานธนาคารหน่วยกิตของจังหวัดลำพูน โดยมุ่งเน้นนโยบายการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถนำสมรรถนะมาเปลี่ยนเป็นหน่วยการเรียนรู้ และผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียน และนำผลลัพธ์การเรียนรู้เหล่านั้นมาประเมินเพื่อเก็บสะสมในธนาคารหน่วยกิต เพื่อได้รับคุณวุฒิการศึกษาในอนาคต ปัจจุบันพบว่ามีวิธีการและองค์ความรู้ใหม่ ๆ มากมายที่สามารถสะสมและเทียบโอนได้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังเร่งดำเนินการในเรื่องการบริหารจัดการและการจัดเก็บผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือสมรรถนะเหล่านี้ โดยจะได้ออกแบบระบบดังกล่าวในลักษณะเดียวกับระบบ My Skill Future ของสิงคโปร์ พร้อมกับร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาหลักสูตรและส่งเสริมการเรียนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในชั้นเรียน เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
การประชุมดังกล่าวมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานในส่วนของการสะสมและเทียบโอนผลการเรียน และผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้งหมดที่มีการจัดการศึกษา การฝึกอบรม และการสอบประเมินสมรรถนะของสถานศึกษาและหน่วยงานในจังหวัดลำพูน แบ่งตามแนวทางการสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ตาม NQF ในรูปแบบการสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้และสมรรถนะ ทั้งในส่วนของ 1) การเทียบโอนผลการเรียนระหว่างหลักสูตรในระดับการศึกษาเดียวกัน 2) การเก็บสะสมหน่วยกิตในรูปแบบธนาคารหน่วยกิตแบบไม่มีชั้นเรียน 100 % 3) การเก็บสะสมหน่วยกิตในระบบโดยการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงกับหลักสูตรในระดับที่สูงกว่า และ4) การเก็บสะสมหน่วยกิตคู่ขนาน (Pre Degree) ระหว่างหลักสูตรที่กำลังศึกษา กับหลักสูตรในระดับที่สูงกว่า
ศธจ.ลำพูน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทางหน่วยงานที่จัดการศึกษา และสถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดลำพูน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนลงนามประกาศ 3 ฉบับที่ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนงาน ได้แก่ (1) ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับมาตรฐานธนาคารหน่วยกิต จังหวัดลำพูน (2) ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการส่งสริมการดำเนินงานศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด จังหวัดลำพูน และ (3) ประกาศแต่งตั้งคณะทำงานวิเคราะห์และเปรียบเทียบรายวิชา เพื่อเชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพตามระดับ NQF ของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด : จังหวัดลำพูน โดยได้ดำเนินการวิเคราะห์และเปรียบเทียบรายวิชา เพื่อเชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพตามระดับ NQF ของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด 6 กลุ่ม ผลการดำเนินงานปพบว่าว่ามีรายวิชาที่สามารถนำมาเทียบเคียงเพื่อเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิต จำนวน 94 รายวิชา โดยมีการร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด จำนวน 29 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดไปสู่การปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรมและเป็นตันแบบศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด เพื่อขยายผลการดำเนินงานศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดทั่วประเทศต่อไป

