สกศ. ลงพื้นที่อีสาน จัดทำตัวชี้วัดทางการศึกษาระดับจังหวัด ข้อมูลเปิดภาครัฐ

เมื่อวันที่ 12 – 14 มีนาคม 2568 ดร.ช่อบุญ จิรานุภาพ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา นำทีมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดทำตัวชี้วัดทางการศึกษาระดับจังหวัด สำหรับการเปิดเผยข้อมูลเปิด (OPEN DATA) ภาครัฐ ตามมาตรฐานการจัดทำข้อมูลภาครัฐ" โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการภาค 13 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรม GREEN@BURIRAM HOTEL อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
วันที่ 12 มีนาคม 2568 สกศ. ลงพื้นที่โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ บุรีรัมย์ โดยมี บาทหลวง ดร. จักรี พันธ์สมบัติ ผู้แทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการโรงเรียนพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะครู ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการบริหารจัดการข้อมูลของโรงเรียน และหาแนวทางพร้อมในการเก็บข้อมูลการจัดการศึกษา “พหุปัญญา” ของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย ผ่านมุมมองการบริหารสถานศึกษา รวมถึงรูปแบบการสอนและการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียนของคณะครูในการในแต่ละช่วงชั้น
วันที่ 13 มีนาคม 2568 ผู้เข้าร่วมประชุมประชุมฝึกปฏิบัติการตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบข้อมูลและการประมาณค่า ค่าของตัวชี้วัด การจัดทำตัวชี้วัดเด็กที่ได้รับ-ไม่ได้รับการศึกษา การกำหนดค่าเป้าหมาย แนวทางการบริหารจัดการข้อมูล มุมมองและการใช้ข้อมูล ซึ่งการจัดทำตัวชี้วัดต้องเข้าใจถึงลักษณะและรูปแบบของมูลที่นำมาใช้ในการจัดทำตัวชี้วัด สามารถอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลได้ตรงตามที่ผู้นำเสนอข้อมูลต้องการเพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนโครงการและกำหนดนโยบายทางการศึกษาในพื้นที่ ผ่านกระบวนการนำเสนอข้อมูลและตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงผู้รับข้อมูลเป็นสำคัญ โดยผู้เข้ารับฟังการบรรยายสามารถแปลงข้อมูลจากชุดข้อมูลที่มีความซับซ้อนออกมาในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย สามารถนำไปต่อยอดในการวางแผนการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาในจังหวัดได้อย่างเหมาะสม
วันที่ 14 มีนาคม 2568 ทีมงานสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาบรรยายเรื่อง การอธิบายข้อมูลและตัวชี้วัดระดับจังหวัด การเปิดเผยข้อมูลเปิด (OPEN DATA) ภาครัฐ กรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศ (DQAF) โดยการอธิบายข้อมูลและตัวชี้วัดระดับจังหวัด เมื่อนำเสนอข้อมูลแล้วผู้นำเสนอสามารถอธิบายถึงคุณลักษณะของข้อมูลความเป็นมาเป็นไปของข้อมูล รวมถึงสามารถอธิบายถึงที่มา และแนวโน้ม ตลอดจนสามารถเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเพื่อสร้างผลการพัฒนาที่ดีต่อไป สอดคล้องกับแนวทางการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผ่านกระบวนการจัดลำดับชั้นความลับข้องข้อมูลจนเป็น ข้อมูลสาธารณะ สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ ใช้งาน วิเคราะห์ หรือดัดแปลงได้อย่างอิสระตามความต้องการข้องผู้ใช้ข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคม อีกทั้งยังเป็นการสร้างความโปร่งใสให้กับภาครัฐในการบริหารประเทศ โดยเมื่อทำการเผยแพร่แล้วผู้นำเสนอข้อมูลต้องมีการประเมินคุณภาพข้อมูลโดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล ยึดหลักปฏิบัติ 3 แนวคิดหลัก คือ สภาพแวดล้อมขององค์กร กระบวนการทางสถิติ และผลสถิติทางการศึกษา อันนำไปสู่การวางแผนและพัฒนาการศึกษาในจังหวัดต่อไป

