สกศ. X ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นประเมินผลปฏิรูปการศึกษาตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

วันที่ 17 มีนาคม 2568 ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “การประเมินผลการปฏิรูปการศึกษาตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542” โดยมี ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ ผู้อำนวยการสำนักกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ผู้แทนจากหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และ ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สกศ.
ดร.ภูมิพัทธ กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษาไทยมากมาย แต่ผลการจัดการศึกษาและการจัดอันดับต่าง ๆ ทั้งของไทยและนานาชาติ แสดงให้เห็นว่าการจัดการศึกษาของไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งด้านคุณภาพ การลดความเหลื่อมล้ำ ประสิทธิภาพ และการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง สกศ. จึงได้ศึกษาและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาภายใต้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาการศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และมีกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ดร.รุ่งนภา ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาของไทย : 3 ทศวรรษที่ผ่านมา” โดยมีใจความสำคัญว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา ด้านโอกาสเข้าถึงการศึกษาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นชัดเจนหลังประกาศใช้พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ด้านคุณภาพการศึกษา ตัวชี้วัดในภาพรวมมีการพัฒนาดีขึ้น ตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาที่ผู้เรียนโดยตรง เช่น ผลการทดสอบ PISA และ O-Net กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ด้านประสิทธิภาพการจัดการศึกษา มีการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนสูง แต่อันดับในระดับนานาชาติกลับอยู่ในกลุ่มร้อยละ 20 จากท้ายสุด ส่วนการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงมีแนวโน้มดีขึ้น ด้านที่มีอันดับดีกว่าด้านอื่น ๆ เมื่อเทียบกับนานาชาติ
ข้อเสนอในการพัฒนาการศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ด้านโอกาสและความเสมอภาค 1) ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ หรือสังคม 2) ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในชนบทและเมือง ด้านคุณภาพการศึกษา 1) ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนไทยให้มีผลสัมฤทธิ์เทียบเท่ากับสากล 2) พัฒนาครูและหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก ด้านประสิทธิภาพ บริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษาอย่างคุ้มค่าและโปร่งใส และบริหารจัดการระบบการศึกษาด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลที่ทันสมัย ด้านการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง 1) สร้างระบบการศึกษาที่ปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล 2) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะใหม่ให้เหมาะสมกับตลาดแรงงานในโลกยุคใหม่
ในที่ประชุมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายในการนำผลวิจัยการประเมินการปฏิรูปการศึกษาไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาการศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล เช่น การเขียนคำนิยามการวิจัยให้ชัดเจน เกณฑ์การประเมินต้องชัด การปรับปรุงตัวชี้วัดที่ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ เน้นงานวิจัยการศึกษาในหลายมิติ การศึกษาต้องดูทั้งระบบ และมีแหล่งเรียนรู้ให้เพิ่มมากขึ้น

