สกศ. X ม.ทักษิณ X ศธจ.สงขลา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ก้าวสู่การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน”

image

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 สกศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสงขลาและโรงเรียนเครือข่ายการเรียนรู้ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนารูปแบบกลไกหนุนเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ก้าวสู่การพัฒนาสมรรถนะ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ตลอดจนแสดงผลงานและแนวปฏิบัติที่ดีจากโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนขยายผลในบริบทของสถานศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ควบคู่กับการถ่ายทอดสดออนไลน์ 

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า โลกอนาคตต้องการคนยุคใหม่ คิดเป็น ทําเป็น สามารถลงมือปฏิบัติได้ในลักษณะที่เรียกว่า สมรรถนะ ได้ ดังนั้นการเรียนการสอนในยุคใหม่ ต้องสามารถนำความรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ ผลงาน หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ในมิติที่สะท้อนให้เห็นถึงผลการปฏิบัติงาน หรือว่า performance ได้ องค์การนานาชาติต่างพยายามพูดถึงการปรับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปในแนวทางที่เราเรียกว่า ฐานสมรรถนะ ซึ่งมีการตีความในหลากหลายรูปแบบตามความเข้าใจของแต่ละบุคคล แนวทางของการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ จะไม่เกิดขึ้นได้ หากขาดความเข้าใจและไม่ได้ลงสู่การปฏิบัติที่แท้จริง กระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ เหล่านั้น ต้องพัฒนาขึ้นมาจากการเรียนรู้ที่หน้างาน หรือที่เรียกว่า interactive learning to action เป็นแนวทางที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ โดยครูต้องลงสู่การปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนในแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีการออกแบบระบบวิทยฐานะที่เรียกว่าเกณฑ์ วPA หรือว่า Performance Agreement ซึ่งเป็นแนวทางที่วางระบบไว้สําหรับให้ครูจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้เด็กลงสู่การปฏิบัติ และสะท้อนสมรรถนะการสอนของครู ผ่านตัวชี้วัด 8 ตัวชี้วัดที่เป็นการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ

สกศ. ได้มีการประกาศมาตรฐานการศึกษาของชาติ 2561 ให้คนไทยมีคุณลักษณะสําคัญที่เราเรียกว่า Desired Outcomes of Education หรือ DOE คือ การเป็นผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็ง คำเหล่านี้จะเป็นเพียงคำที่สวยงามเท่านั้น หากไม่ได้ลงสู่การปฏิบัติจริงในห้องเรียน ดังนั้นในการประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ จึงมีความสําคัญมากสำหรับผู้บริหารในระดับจังหวัด อาทิ ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อํานวยการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ที่ต้องเข้าไปหนุนเสริมการทํางานของโรงเรียนเพื่อทําให้ทุกห้องเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะได้

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมดี ๆ อีกมากมาย ได้แก่ การแสดงมโนราห์ตัวอ่อน : ผลผลิตจากการพัฒนาสมรรถนะ โดย โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง หลักการในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน และเกณฑ์ 16 เกณฑ์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี และเสวนาวิชาการ เรื่อง ก้าวสู่การพัฒนาสมรรถนะ : ระบบกลไกการหนุนเสริมการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เชื่อมโยงสู่การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะและแนวทางการพัฒนาสมรรถนะ โดย ศาสตราจารย์ ดร.บังอร เสรีรัตน์ และโรงเรียนเครือข่ายการเรียนรู้ การนำเสนอตัวอย่างและปฏิบัติการออกแบบแนวทางการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนตามแนวคิดพหุปัญญา การใช้รูปแบบการเรียนรู้ การใช้ตามแนวคิดมอนเตสซอรี  Whole School learning และตามแนวทางบูรณาการผสานหลายสมรรถนะ 

บริเวณโดยรอบมีการจัดแสดงนิทรรศการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะของ 5 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนศิริพงศ์วิทยาจากหลักสูตรสู่แผนการจัดการเรียนรู้ก้าวสู่สมรรถนะผู้เรียน 2)  โรงเรียนสุทธิ์รักษ์  โรงเรียนฐานสมรรถนะกับการพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดสุขภาวะ (Good Health and Well-being) 3) โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์นำเสนอขยับปีกสมรรถนะ เคลื่อนองค์กรแห่งการเรียนรู้  : โรงเรียนตื่นรู้เชิงนิเวศน์ฐานชุมชน (Srinakarin Eco School ) 4) โรงเรียนวัดตาหลวงคง ก้าวเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ มุ่งสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน และ 5) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยทักษิณฝ่ายประถม เป็นโรงเรียนแห่งความสุข (Happy School) 

*ท่านสามารถติดตามย้อนหลังได้ที่ Facebook สภาการศึกษา

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด