สกศ. ประชุมเชิงปฏิบัติการ การประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามเกณฑ์ประเมินเชิงคุณภาพ ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต (CRMS)
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามเกณฑ์ประเมินเชิงคุณภาพ “ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต” (Corruption Risk Management Systems: CRMS) โดยมีวิทยากรจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้แก่ นางสาววรัญญา ชวศุภกุล ผู้อำนวยการกองบริหารความเสี่ยงและสกัดกั้นการทุจริตในภาครัฐ และนายกัลณวิชญ์ นวลจันทร์ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ พร้อมด้วย นางรุจิรา สุนทรีรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานจริยธรรม ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเข้าร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี สกศ.
นายธฤติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นภารกิจที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาการทุจริตในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพ และความยั่งยืนของการดำเนินงาน การจัดการกับความเสี่ยงจากการทุจริตจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อลดปัญหาการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐลดลง ประชาชน และชาวต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และส่งผลให้ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยสูงขึ้นต่อไป การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้มาร่วมกันแสดงพลังในการป้องการการทุจริตและประพฤติมิชอบ และนำความรู้ที่ได้จากการประชุมไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจนสามารถนำพาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรใสสะอาดมีการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance)
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันเรียนรู้และรับฟังความรู้จากวิทยากรเกี่ยวกับหลักการและแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต โดยเนื้อหาครอบคลุมหัวข้อสำคัญเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” ซึ่งหมายถึงปัจจัยหรือสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบหรือความสูญเปล่าในองค์กร การวิเคราะห์ความเสี่ยงช่วยให้สามารถระบุจุดอ่อนและช่องโหว่ที่อาจนำไปสู่การทุจริต พร้อมทั้งได้ให้แนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามเกณฑ์ประเมินเชิงคุณภาพ “ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต” 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การคัดเลือกกระบวนงานหรือโครงการ 2) การกำหนดประเด็นความเสี่ยงการทุจริต 3) การกำหนดเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงการทุจริต ซึ่งต้องกำหนดหรือคาดการณ์โอกาสในการเกิดการทุจริตและผลกระทบ 4) การประเมินระดับความรุนแรงของความเสี่ยงการทุจริต ซึ่งประเมินได้จากระดับของโอกาสและผลกระทบแล้วแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ต่ำ ปานกลาง สูง และสูงมาก และ 5) การจัดทำมาตรการควบคุมความเสี่ยงการทุจริต
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตและส่งเสริมการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ การประเมินความเสี่ยงตามเกณฑ์เชิงคุณภาพช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบในองค์กร ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย เรามุ่งสู่การเป็นองค์กรที่บริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส และปลอดการทุจริตอย่างแท้จริง