วุฒิสภา X สภาการศึกษา ประสาน มหาวิทยาลัย ระดมคิด ข้อเสนอทิศทางการศึกษาไทยที่สังคมคาดหวัง
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 ดร.กมล รอดคล้าย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำ “ข้อเสนอทิศทางการศึกษาไทยที่สังคมคาดหวัง” ครั้งที่ 1/2568 โดยมีคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ วิทยาการเรียนรู้ฯ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ ศ. ดร. คณิต เขียววิชัย คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ว่าที่ร้อยตรี ดร. กิตติคุณ รุ่งเรือง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร. อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร. ปิยะนันท์ หิรัณย์ชโลทร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะทำงานจากวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมหารือเพื่อพัฒนากรอบแนวคิดการจัดทำ White Paper ข้อเสนอทิศทางการศึกษาไทยที่คาดหวัง ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 429 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา
ดร.กมล ชี้ให้เห็นว่า ปี พ.ศ. 2567 อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้อย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์จะไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ภาครัฐจะขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงต้องเร่งดำเนินการใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. เพิ่มคุณภาพของเด็กไทย การจัดการเรียนการสอนไม่ควรเน้นแต่วิชาการ แต่ควรเน้นสนับสนุนความสามารถด้าน ต่าง ๆ ของนักเรียนให้หลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ ฯลฯ ควรมีการพัฒนาครู พัฒนาหลักสูตร การศึกษาต้องคำนึงถึงหลัก Education for all All for education 2. ดึงผู้มีศักยภาพสูงทั้งคนไทยและคนต่างประเทศมาช่วยพัฒนาประเทศ เช่น ภาครัฐควรมีนโยบายให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกจำนวนมาก เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วให้นำกลับมาพัฒนาประเทศ รวมถึงควรมีสิทธิประโยชน์และแหล่งงานรองรับ อีกทั้งควรมีมาตราจูงใจที่จะดึงผู้มีศักยภาพสูงในต่างประเทศมาช่วยพัฒนาประเทศไทย 3. พัฒนาระบบ Data Driven มีข้อมูลผู้เรียนรายจังหวัดที่มีความรู้ ความสามารถ ความถนัดในแต่ละด้าน เพื่อรองรับงานอาชีพต่าง ๆ ทั้งมีการรวบรวมเป็นข้อมูลระดับประเทศที่เชื่อมต่อกันทั้งระบบ เพื่อจะสามารถนำมาวางแผนพัฒนาประเทศได้
ที่ประชุมร่วมแสดงความคิดเห็นว่าเรื่องการผลิตและพัฒนาครูเป็นสิ่งสำคัญ เพราะครูเป็นผู้สร้างให้เด็กมีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ สถาบันผลิตและพัฒนาครูต้องมีมาตรฐานและมีคุณภาพ การเรียนการสอนต้องมุ่งเน้นทักษะในการหาความรู้ กลวิธีการสอนที่สามารถนำไปปรับใช้ในบริบท สถานการณ์ต่าง ๆ ได้ การศึกษาต้องเป็นแบบเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องคิดถึงคนทุกช่วงวัย ควรให้ความสำคัญกับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม การสื่อสารทำงานร่วมกับคนอื่นได้ การประเมินหรือเกณฑ์การรับเข้าการศึกษาต่อต้องปรับเปลี่ยน เช่น มีคะแนนสำหรับแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) จะทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม หล่อหลอมทักษะ คุณธรรมต่าง ๆ มากขึ้น คณะทำงานฯ จะรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่ได้ไปรับฟังความคิดเห็น 4 ภูมิภาค เพื่อจัดทำเป็น “ข้อเสนอทิศทางการศึกษาไทยที่สังคมคาดหวัง” เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาต่อไป และนำไปขับเคลื่อนประเทศต่อไป