สกศ. ปฐมนิเทศ 10 ทีมเข้ารอบ OEC Hackathon เรียนดี มีความสุข ชุมชนยั่งยืน
วันที่ 25 มกราคม 2568 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดปฐมนิเทศ 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบกิจกรรม “OEC Hackathon : เรียนดี มีความสุข ชุมชนยั่งยืน” เพื่อสร้างเสริมชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skill Set) ของผู้เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมด้านการศึกษา เป็นประธานการปฐมนิเทศ พร้อมด้วยนางสาวรุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา นายศุภเกียรติ คุ้มหอยกัน Program Manager Hackathon Thailand โดย 10 ทีมจาก 203 ทีมที่ได้ผ่านการคัดเลือก ได้แก่ 1. THE CLICK 2. ต่อแพ ต่อลมหายใจ สร้างสรรค์รายได้สู่ชุมชน 3. Chindamanee Hope Makers 4. Onion Power Rangers 5. PTK.innotech 6. It’sWeSanity plus1 7. Triz 8. Smart Mangosteen Unit (S.TSU) 9. ชุดควบคุมอัจฉริยะสำหรับเกษตรกร พลังงานโซล่าเซลล์ และ 10. Design-ได้สิ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าวเปิดกิจกรรมใจความว่า กิจกรรม Hackathon เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมสามารถเรียนรู้แก้ปัญหาได้จากการปฏิบัติและประสบการณ์ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการมองว่าในอนาคตเด็กไทยควรต้องมีทักษะในหลากหลายด้านเพื่อที่จะได้สามารถแข่งขันได้อนาคต จึงเป็นส่วนที่ทำให้ตัดสินใจเริ่มทำโครงการ Hackathon ขึ้น และดีใจมากที่มีนักเรียนสนใจมาร่วมโครงการมากมายถึง 203 ทีม ซึ่งนักเรียนที่ไม่เข้ารอบก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะเรายังมีกระบวนการในการต่อยอดความคิด ซึ่งถ้าโครงการที่น้อง ๆ คิดสามารถนำไปแก้ปัญหา เปลี่ยนแปลงสังคมและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและประเทศได้อย่างแท้จริง นักเรียนก็จะเกิดความความภูมิใจ เพราะสามารถนำศักยภาพไปช่วยพัฒนาประเทศได้ต่อไป และขอบคุณทีมงานทั้งของสกศ. และ Hackathon Thailand ที่ช่วยสร้างฝันในครั้งนี้ให้เป็นจริง
จากนั้นเป็นกิจกรรมแนะนำโครงการ “OEC Hackathon : เรียนดี มีความสุข ชุมชนยั่งยืน” พร้อมแนะนำทีมงาน สกศ. และ Hackathon Thailand ต่อด้วยการเล่นเกมละลายพฤติกรรมและทำความรู้จักกันของผู้เข้ารอบทั้ง 10 ทีม ต่อด้วยการชี้แจงตารางและภาพรวมกิจกรรม รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม OEC Hackathon
ต่อด้วยการบรรยายเรื่อง วิธีการเก็บข้อมูลชุมชน โดยนายศุภเกียรติ คุ้มหอยกัน ซึ่งใจความสำคัญของการลงพื้นที่ก็คือเพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน ซึ่งการเข้าใจปัญหาในพื้นที่จะช่วยให้ได้วิธิคิดและได้ไอเดียที่ตรงกับความต้องการของชุมชนจริง ๆ และเป็นการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ปิดท้ายด้วยการชี้แจงภารกิจ แนวทางปฏิบัติ พร้อมตอบข้อสงสัย ก่อนที่ทั้ง 10 ทีมจะได้เข้าค่าย OEC Hackathon Camp ร่วมกัน ระหว่างวันที่ 7 - 9 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต เพื่อพัฒนาชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) พร้อมรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการต่อยอดและขัดเกลาไอเดียนวัตกรรมสร้างสรรค์ชุมชนยั่งยืนของแต่ละทีมให้ดียิ่งขึ้น โดยจะประกาศผลทีมที่ชนะการแข่งขันในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 ร่วมให้กำลังใจผู้เข้ารอบทั้ง 10 ทีม ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “สภาการศึกษา” และเพจ “Hackathon Thailand” ต่อไป