สกศ. ร่วมมือภาคีเครือข่ายการจัดการศึกษา พัฒนาคุณภาพข้อมูล ติดตามเด็กหลุดจากระบบ

image

ระหว่างวันที่ 22 – 24 มกราคม 2568 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “กรอบการดำเนินงานขับเคลื่อนคุณภาพข้อมูลการศึกษาของประเทศไทย" โดยมี ดร.ช่อบุญ จิรานุภาพ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้แก่ UNESCO Institute for Statistics, Bangkok สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.ศธ. ศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สป.ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักการศึกษาเมืองพัทยา สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยการกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต 2 เข้าร่วมการประชุม ณ ศูนย์ฝึกการบินหัวหิน สถาบันการบินพลเรือน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ Eco Cozy Beachfront Resort จ.เพชรบุรี

วันที่ 22 มกราคม 2568 น.ท.บุญเที่ยง ค้ายาดี ครูการบิน รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ฝึกการบิน พร้อมนำทีมคณะครูการบินและพนักงานศูนย์ฝึกการบินร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่อง “การบริหารจัดการข้อมูลด้านการศึกษาของศูนย์การบิน” ณ ศูนย์ฝึกการบินหัวหิน สถาบันการบินพลเรือน สำหรับการจัดการศึกษาของสถาบันเน้นการผลิตบุคลากรด้านการบินให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ พัฒนาหลักสูตรให้ตอบสนองนโยบายภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สำหรับสถาบันประกอบด้วยมาตรฐานที่ได้การรับรอง 2 ประเภท ได้แก่ มาตรฐานการฝึกอบรมและมาตรฐานคุณวุฒิการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา ซึ่งสถาบันได้บริหารจัดการข้อมูลโดยใช้ระบบ Network Attached Storage (NAS) ในการเก็บข้อมูลของบุคลากร นอกจากนี้ได้พานำชมศูนย์ซ่อมบำรุงและร่วมปฏิบัติการฝึกบินจำลอง (Synthetic Flight Training) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ พร้อมกับความรู้และทักษะที่นำมาใช้ในการปฏิบัติของผู้เรียน

วันที่ 23 มกราคม 2568 นายธฤติ กล่าวถึงความสำคัญของคุณภาพข้อมูลว่า สภาการศึกษารายงานข้อมูลสถิติด้านการศึกษาในระบบข้อมูล UNESCO Institute for Statistics: UIS ได้ศึกษาและพัฒนากรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลให้สอดคล้องบริบทประเทศไทย (Thailand Ed-DQAF) ตามกรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลของ UNESCO เพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาให้ได้บุคลากรซึ่งเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้แข่งขันกับนานาชาติได้ด้วยการเพิ่มพูนองค์ความรู้ ทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากนั้น ดร.ช่อบุญ ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการประชุม ประกอบด้วย 1) พิจารณา (ร่าง) แผนพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย และ 2) รับรองข้อมูลและตัวชี้วัดตามแบบจัดเก็บ Data Collection เพื่อให้สะดวกในการนำไปใช้ของหน่วยงานอื่น ๆ 

นอกจากนี้ Mr.Roshan Bajracharya ผู้แทนจาก UIS ได้ร่วมบรรยายและแสดงความคิดเห็นด้านความสำคัญของกระบวนการนำข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้ เริ่มตั้งแต่การกำหนดตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และแผนการศึกษาชาติสู่การจัดเก็บข้อมูลในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ส่วนกลางและภูมิภาค ดังนั้นการร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายจะนำไปสู่ข้อมูลที่ใช้ออกแนวนโยบายที่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

วันที่ 24 มกราคม 2568 เป็นวันสุดท้ายของการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมหารือในประเด็น Zero Dropout โดยนางสุพัตรา ชะเอม ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา นำทีมคณะบุคลากรสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 เป็นร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “รูปแบบการติดตามเด็กนอกระบบให้กลับเข้ารับการศึกษา” โดยใช้หลักการการบริหารงานแบบ PDCA ช่วยในการบริหารงานและแก้ปัญหาผ่านองค์ประกอบ 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) Plan การดำเนินรับรู้เชิงนโยบาย 2) Do ลงพื้นที่สำรวจ ค้นหา จัดเก็บข้อมูล ติดตาม 3) Check ทำการรายงานตามรูปแบบที่กำหนด และ 4) Act การติดตามเพื่อดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนเข้าสู่ระบบการศึกษา สำหรับเขตพื้นที่ใช้ระบบจัดเก็บฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center : DMC) โดยสำนักงานเขตพื้นที่ฯ จัดให้สถานศึกษากรอกข้อมูลพร้อมกำหนดขั้นตอนการติดตามการให้ข้อมูล เพื่อตอบรับนโยบาย “พาน้องกลับมาเรียน” ของ รมว.ศธ.ที่ต้องการลดเด็กหลุดออกจากระบบ พร้อมกันนี้ที่ประชุมร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลเด็กที่ออกจากการศึกษากลางคันควรมีการกำหนดตัวชี้วัดระบุกระบวนการติดตามที่หน่วยงานสามารถมั่นใจว่าข้อมูลถูกต้อง พร้อมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานมีนักจิตวิทยาเพื่อรองรับสภาวะทางจิตใจที่อาจทำให้เด็กออกกลางคัน 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด