สกศ. รับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อจัดทำดัชนีการศึกษาแห่งชาติ

image

วันที่ 15 มกราคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา มอบหมาย นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาการจัดทำดัชนีการศึกษาแห่งชาติ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา องค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สกศ. 

นายวีระพงษ์ กล่าวว่า ดัชนีการศึกษาแห่งชาติว่าเป็นข้อมูลเชิงตัวชี้วัดที่สะท้อนสถานะและคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประเมินและติดตามผลการดำเนินงานทางการศึกษา รวมถึงการเปรียบเทียบระดับคุณภาพการศึกษาระหว่างประเทศหรือระหว่างพื้นที่ภายในประเทศเอง ซึ่งข้อมูลที่ได้มักจะเป็นข้อมูลในรูปแบบของสถิติโดยใช้ตัวเลขแสดงผลลัพธ์หรือสถานะของตัวชี้วัดนั้น ๆ รูปแบบการจัดการข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของ รศ.ดร.ประวิต เลขาธิการสภาการศึกษาที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาใหม่ คือ “องค์กรคลังปัญญา ขับเคลื่อนการศึกษาประเทศด้วยองค์ความรู้” ที่จะมุ่งเน้นการวิจัยและการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ 

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีวัดและประเมินด้านสถิติเกี่ยวกับการศึกษาอยู่หลายด้าน แต่ยังไม่มี “ดัชนีการศึกษาแห่งชาติ” ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการวัดและประเมินผลระบบการศึกษาของประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการพัฒนานโยบาย การติดตาม ตลอดจนการสร้างความเข้าใจร่วมกัน นอกจากนี้ยังนับเป็นการขับเคลื่อนการศึกษาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในการนี้ที่ประชุมได้ยกตัวอย่าง ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย พ.ศ. 2563 ให้ผู้ทรงคุณวุฒิได้ทราบรูปแบบการทำดัชนีตัวชี้วัดในแง่มุมของการศึกษา ตลอดจนร่วมวิพากษ์ระเบียบวิธีวิจัยและการนำมาปรับใช้เพื่อออกแบบดัชนีการศึกษาแห่งชาติต่อไป 

ดร.เกียรติอนันต์ ได้นำเสนอรูปแบบการดำเนินงาน “ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย” ใช้เป็นกรณีศึกษาต่อการพัฒนาดัชนีการศึกษาแห่งชาติ สาระสำคัญของดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุข คือ การกำหนดหมุดหมายและระเบียบวิธีวิจัยเนื่องจากขอบเขตของงานค่อนข้างกว้างจะเป็นต้องคัดเลือกตัวชี้วัดให้ตอบโจทย์เหมาะสมกับบริบทและสอดรับกับวัตถุประสงค์ของการจัดทำดัชนีตัวชี้วัด การเก็บข้อมูลมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยมีการจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการอยู่หลายครั้งแยกตามแต่ละตัวชี้วัดหลัก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเป็นผู้ร่วมกำหนดนิยามและคัดเลือกตัวชี้วัด นอกจากนี้ยังมีการออกแบบตัวชี้วัดขึ้นมาผ่านวิธีทางสถิติด้วยการนำข้อมูลมาคำนวณหลากหลายวิธีและนำมาเปรียบเทียบหาวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีที่สุด 

ดร.รังสรรค์ ได้นำเสนอรูปแบบการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลทางด้านการศึกษาขององค์การยูนิเซฟได้จัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล โดยนำเสนอตัวชี้วัดที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับการศึกษาผ่านระบบแดชบอร์ด (Dashboard) ขององค์การยูนิเซฟซึ่งมีการจัดข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ถือเป็นการนำเสนอภาพกลไกการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการสร้างดัชนีการศึกษาแห่งชาติที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนานาชาติ 
สกศ. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมไปปรับปรุงและพัฒนาระเบียบวิธีวิจัย เพื่อการออกแบบดัชนีการศึกษาแห่งชาติให้มีความครอบคลุมและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและนานาชาติ โดยมุ่งหวังให้ดัชนีการศึกษาแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งต่อการ "ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ" ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งหวังประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ และเสริมสร้างอนาคตการศึกษาที่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนไทย

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด