สกศ. ร่วมเป็นหนึ่งใน Co-Creation to Drive Learning City ยกระดับสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
วันที่ 15 มกราคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา มอบหมายให้ ดร.นิติ นาชิต
รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น “สู่เส้นทางความร่วมมือ: สร้างเมืองอย่างไร ให้คนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต” (Co-Creation to Drive “Lifelong Learning City”) โดยมี ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาพิเศษ ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาพิเศษ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออนกราวด์ ณ ห้องกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี สกศ.
ดร.นิติ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีความมุ่งหมายในการวางรากฐานการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ในพื้นที่ ให้พร้อมสู่การเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาพิเศษ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย 2 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1) ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย พ.ศ. 2567 โดยคณะทำงานพัฒนาดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย ประกอบด้วย สำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา และสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ได้ร่วมกำหนดเข็มทิศยุทธศาสตร์ 3 มิติ 9 ตัวชี้วัด สะท้อนสถานการณ์การเรียนรู้ระดับชาติ พร้อมร่วมกันวางแผนปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งในการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ของจังหวัด
2) สร้างความร่วมมือพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตระหว่างสภาการศึกษาและภาคีเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การจัดทำ “ข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต” พร้อมเสนอต่อคณะกรรมการสภาการศึกษา ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานต่อไป
ดร.ชัยยศ กล่าวถึงมุมมองการให้ความสำคัญของการพัฒนาดัชนีฯ เนื่องจากบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้เกิด Disruption ในด้านต่าง ๆ เช่น การเกิดของประชากรลดลง ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ทุกช่วงวัย นับว่าเป็นประเด็นท้าทายในการลดช่องว่างในการเข้าถึงการเรียนรู้ รวมไปถึงโครงสร้างของการศึกษาอีกด้วย
จากนั้น ดร.นิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีเมืองหรือจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) แต่ในระดับประเทศยังขาดตัวชี้วัดที่สะท้อนสถานการณ์การเข้าถึงการเรียนรู้ของผู้คนทุกช่วงวัยในแต่ละจังหวัด ดังนั้นปี 2567 สภาการศึกษาจึงได้จัดทำ “ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย พ.ศ. 2567” ขึ้น โดยในปี 2568 สภาการศึกษาเข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ (Learning Ecosystem) ให้มีความพร้อมทั้งด้านบุคคล สภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างประสบการณ์เรียนรู้ให้กับผู้คนทุกช่วงวัยของเมือง พร้อมร่วมขับเคลื่อน Thailand Learning City Platform แพลตฟอร์มเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับชาติ อีกทั้งจัดทำ E-Learning บทเรียนออนไลน์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประสานภารกิจของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาพิเศษ ตลอดจนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติ มติที่ 2 เกี่ยวกับการหนุนเสริมระบบนิเวศชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ผลจากการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ภาคีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้สามารถสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มศักยภาพให้ประชากรนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติ ลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต