สกศ.รับฟังความคิดเห็นหน่วยงานการศึกษาเทียบเคียงระดับสมรรถนะภาษาญี่ปุ่นและเกาหลีตามระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
วันที่ 14 มกราคม 2568 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเพื่อเทียบเคียงระดับสมรรถนะภาษาญี่ปุ่นและเกาหลีตามระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่
ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ พร้อมด้วย ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สถาบันภาษา ร่วมประชุม ณ ห้องบุษบงกช เอ ชั้น 2 โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร
ดร.นิติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ส่งเสริมให้สถานศึกษาและสถาบันฝึกอบรมในประเทศดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและฝึกอบรมให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล รวมถึงการนำมาตรฐานภาษาต่างประเทศมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตร ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และภาษาเกาหลี มีการนำมาใช้ภายใต้มาตรฐานที่สามารถเทียบเคียงกันได้ โดยยึดตามระดับสมรรถนะในระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การประชุมวันนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานการศึกษาและสถาบันภาษาได้เทียบเคียงระดับสมรรถนะภาษาญี่ปุ่นและเกาหลีตามระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อพัฒนาหลักสูตรในส่วนของทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานนี้ได้สอดคล้องกับนโยบายของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) การพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานอาชีพ (Skill Certificate) เพื่อให้มีระบบการประเมินผลการรับรองให้ผู้เรียนได้รับการรับรองมาตรฐานเมื่อสำเร็จการศึกษาควบคู่กับคุณวุฒิการศึกษา รวมถึงนโยบายในการพัฒนาระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา (Academic Equivalency) และการประเมินผลการศึกษา (Evaluation System) เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบการศึกษาเพื่อการมีงานทำและมีรายได้ระหว่างเรียน
ดร.กาญจนา ได้กล่าวถึง ผลการเทียบเคียงสมรรถนะภาษาต่างประเทศกับระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สกศ. ได้ดำเนินการเพื่อเทียบเคียงระดับสมรรถนะภาษาอังกฤษกับระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติที่ผ่านมา มีข้อคิดเห็นที่ว่าไม่ว่าจะเทียบเคียงสมรรถนะภาษาใดก็ตามให้ยึดตามกรอบ CEFR เพื่อประสิทธิภาพและความชัดเจนในการดำเนินงานร่วมกัน
จากนั้นมีการนำเสนอ (ร่าง) แผนการเทียบเคียงระดับสมรรถนะภาษาญี่ปุ่นและภาษาเกาหลี กับระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การเทียบเคียงระดับสมรรถนะภาษาญี่ปุ่น ในระดับ N5 เทียบกรอบคุณวุฒิ ระดับ 1 (มัธยมต้น) จนถึงระดับ N1 กรอบคุณวุฒิ ระดับ 7 (ปริญญาโท) มีข้อคิดเห็นในด้านความชัดเจนของคำนิยามของความสามารถการทดสอบสมรรถนะยังมีความเหลื่อมล้ำในการให้ระดับความสามารถทางภาษาอยู่ และการเทียบเคียงระดับสมรรถนะภาษาเกาหลี ใน Level 1 – 2 เทียบกรอบคุณวุฒิ ระดับ 1 (มัธยมต้น) จนถึง Level 5 – 6 กรอบคุณวุฒิ ระดับ 8 (ปริญญาเอก) มีข้อคิดเห็นว่าการเทียบเคียงภาษาเกาหลีสามารถยึดตามกรอบแนวทางที่นำเสนอได้ เนื่องจากระดับสมรรถนะภาษาเกาหลีมีมาตรฐานสากลตามแนวทางที่เสนออยู่แล้ว และเสนอให้หน่วยงานทางด้านนโยบายสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนสนใจภาษาต่างประเทศยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะมีการเทียบเคียงระดับสมรรถนะภาษาจีน ตามระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ในวันที่ 17 มกราคม 2568 ต่อไป
สกศ. จะนำข้อมูลอันเป็นประโยชน์ที่ได้ในวันนี้ ไปปรับ (ร่าง) แผนการเทียบเคียงให้สมบูรณ์เพื่อเตรียมจัดทำประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเทียบเคียงระดับสมรรถนะภาษาต่างประเทศตามระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อพัฒนาการศึกษาและอาชีพเป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากลต่อไป