สกศ. ร่วมหารือและพร้อมขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับกรอบคุณวุฒิของประเทศหรือภูมิภาคที่สาม
วันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมประชุมเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) กับกรอบคุณวุฒิของประเทศหรือภูมิภาคที่สาม โดยมี Mr. Reynaldo B. Vea, the President and CEO of the Mapua University, Philippines เป็นผู้นำประชุม พร้อมด้วย ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาและการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ในนามตัวแทนของประเทศไทย นางปัทมา วีระวานิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาและการขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สถาบันคุณวุฒิวิขาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมประชุมรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออนกราวด์ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สกศ.
จากการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF Committee) ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 17 - 18 มกราคม 2567 ณ เมืองปุตราจายา สหพันธรัฐมาเลเซีย ได้มีการหารือความร่วมมือการยกระดับการดำเนินงานกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF : Asen Qualifications Reference Framework) ในการพัฒนาการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับกรอบคุณวุฒิของประเทศที่สามหรือกรอบคุณวุฒิภูมิภาคอื่น โดยในส่วนของประเทศไทยได้รับการร้องขอให้ศึกษาแนวทางการเทียบเคียง AQRF กับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับกรอบคุณวุฒิของประเทศหรือภูมิภาคที่สาม สำนักเลขาธิการอาเซียนในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนจึงได้ร่วมกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์กำหนดจัดการประชุมสนทนากลุ่มเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับกรอบคุณวุฒิของประเทศหรือภูมิภาคที่สาม (Focus Group on Third-Party Comparison: FG-TPC) ขึ้น โดยขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำเสนอผลการศึกษาการเทียบเคียง AQRF กับประเทศหรือภูมิภาคที่สามตามประเด็นที่กำหนด
ที่ประชุมได้นำเสนอผลการศึกษาการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับประเทศหรือภูมิภาคที่สามโดยผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่
1) สหพันธรัฐมาเลเซีย ได้นำเสนอการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิสหภาพยุโรป (EQF) และคุณวุฒิเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong QF)
2) ประเทศไทย ได้รับการร้องขอให้ศึกษาแนวทางการเทียบเคียงกับคุณวุฒิอาชีวศึกษาของสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Vocational Qualification : NVQ) ได้นำเสนอความคืบหน้าต่อที่ประชุมในหลายประเด็น เช่น การเรียนรู้แบบออนไลน์ Micro-credentials สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบบและกลไกการหนุนเสริมผู้เรียนอย่าใกล้ชิดจากครูที่ปรึกษา การพัฒนากำลังคนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนและขยายผลในเรื่อง Green TVET / Green Workforce เป็นต้น
3) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ที่เทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒินิวซีแลนด์ กรอบคุณวุฒิออสเตรเลีย กรอบคุณวุฒิการอุดมศึกษาของอาหรับ และกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
4) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เทียบเคียงกรอบคุณวุฒิเกาหลีใต้ (KQF)
5) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เทียบเคียงระบบคุณวุฒิประเทศญี่ปุ่น และกรอบคุณวุฒิชุมชนพัฒนาแอฟริกาใต้ (South Africa Development Community : SADC)
6) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเทียบเคียงกับระบบคุณวุฒิประเทศญี่ปุ่น กรอบคุณวุฒิชุมชนพัฒนาแอฟริกาใต้ (South Africa Development Community : SADC) และกรอบคุณวุฒิสหภาพยุโรป (EQF)
โดยสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นั้นยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
การหารือในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบอ้างอิงอาเซียนในส่วนของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป