สกศ.หารือผู้ทรงคุณวุฒิจัดทำแนวทางการรับคุณวุฒิการศึกษาตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
วันที่ 20 ธันวาคม 2567 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อจัดทำแนวทางการได้รับคุณวุฒิการศึกษาตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมี นายนิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายชลัช ชินธรรมมิตร์ นายถาวร ชลัษเฐียร นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ นางศิริพรรณ ชุมนุม นายอรรถการ ตฤษณารังสี นายอำนาจ วิชยานุวัติ รศ.มนตรี แย้มกสิกร รศ.สมบัติ นพรัก รศ.ธีรภัทร กุโลภาส พร้อมด้วย ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ร่วมประชุมรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออนกราวด์ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 สกศ.
รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า การศึกษาของประเทศยังไม่ตอบโจทย์กับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมากนัก ทั้งนี้ ต้องพัฒนาการศึกษาให้มีการเปิดโอกาสการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์กับการศึกษาของโลกอนาคต และผู้เรียนมีสมรรถนะที่สูงขึ้น โดยการหารือในวันนี้เป็นการขับเคลื่อนงานร่วมกันในการหาแนวทางและการบูรณาการการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์โลกของการเรียนรู้ยิ่งขึ้น
ดร.นิติ กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิและธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ได้นำนโยบายของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) และเน้นการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจะมีการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตสู่ความเป็นรูปธรรม ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 5 รูปแบบ คือ 1) รูปแบบการเทียบโอนผลการเรียนระหว่างหลักสูตรในระดับการศึกษาเดียวกัน (ขั้นพื้นฐานกับการอาชีวศึกษา) 2) รูปแบบการเก็บสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิตแบบไม่มีขั้นเรียน 100% 3) รูปแบบการเก็บสะสมหน่วยกิตการศึกษาในระบบโดยการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงกับหลักสูตรในระดับที่สูงกว่า 4) รูปแบบการเก็บสะสมหน่วยกิตคู่ขนานระหว่างหลักสูตรที่กำลังศึกษา และในรูปแบบที่ 5) Next Step คือการแปลงประสบการณ์อาชีพสู่สมรรถนะ และหน่วยกิตตามระดับคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อเก็บสะสมในระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ สกศ.ต้องดำเนินการสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
ดร.กาญจนา กล่าวว่า การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ประเด็นกลไกการนำองค์ความรู้และนโยบายลงสู่การปฏิบัติ สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือการขยายผลการพัฒนาหลักสูตรไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ เช่น สพฐ. สกร. สถาบันอุดมศึกษา และติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษาในประเด็นการสอบหรือได้รับการรับรองสมรรถนะ การมีงานทำ โอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ใหม่ในรูปแบบที่ 5 Next Step การแปลงประสบการณ์อาชีพสู่สมรรถนะและหน่วยกิตตามระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รวมถึงการจัดทำคู่มือกระบวนการ ประสานงานกับ สพฐ. สอศ. สช. สกร. และขับเคลื่อนธนาคารหน่วยกิตลงสู่การปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการ (kick off) และสร้างการรับรู้หนุนเสริมทางวิชาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากนั้น รศ.ดร.ประวิต ได้นำอภิปรายร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิประเด็นแผนการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติลงสู่การปฏิบัติ และแนวทางการได้รับคุณวุฒิการศึกษาตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เป็นคุณวุฒิการศึกษารูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างความเท่าเทียม ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เติมเต็มสมรรถนะผ่านการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น
สกศ. จะนำข้อคิดเห็นจากการหารือในวันนี้ไปเป็นแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมเหมาะสมต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป