สกศ. ขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนช่วงวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานเชื่อมโยงอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ
วันที่ 16-20 ธันวาคม 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาลงพื้นที่จัดประชุมและเก็บข้อมูลในโครงการการผลิตและพัฒนากำลังคนช่วงวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รองรับการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ณ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และลำพูน
โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพปฎล สุนทรนนท์ นายณรงค์ เพชรล้ำ และนางโชติกา วรรณบุรี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา พร้อมด้วยข้าราชการกลุ่มนโยบายการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ลงพื้นที่จัดประชุมและเก็บข้อมูล 3 จังหวัดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ได้แก่
1) จังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 2) จังหวัดลำพูน ลงพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง วิทยาลัยการอาชีพบ้านโฮ่ง โรงเรียนบ้านแป้นพิทยาคม และโรงเรียนอุโมงค์วิทยาคม และ 3) จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม โรงเรียนสันทรายวิทยาคม และโรงเรียนวารีเชียงใหม่
การเก็บข้อมูลในครั้งนี้ทำให้ได้รับทราบข้อมูลการส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กลุ่ม 2 อุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่ม 3 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกลุ่ม 4 อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมทั้งรับทราบข้อมูลการจัดหลักสูตรสถานศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย รองรับเป้าหมายการศึกษาต่อหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตรระดับปริญญาบัตร และการประกอบอาชีพของผู้เรียน รวมถึงสภาพปัจจุบันของสถานศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา และการได้มาของข้อมูลสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ การจัดทำหลักสูตรและการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณวุฒิ และมาตรฐานวิชาชีพและอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคนช่วงวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีเส้นทางการเรียนเชื่อมโยงจากการศึกษาขั้นพื้นฐานไปสู่การศึกษาอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา หรือการประกอบอาชีพ รวมทั้งรับทราบสภาพปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของสถาบันการศึกษา และยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ทั้งนี้ สกศ.จะได้นำข้อมูลที่ได้รับจากการลงพื้นที่ไปจัดทำข้อเสนอแนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนตามช่วงวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รองรับการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป