สกศ. ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำคู่มือแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร
วันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาคู่มือแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร โดยมีนายสิทธา มูลหงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม นายเนติ รัตนากร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสถานศึกษาที่มีประสบการณ์การจัดการศึกษาให้กับสามเณรเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
นายธฤติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร และระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาและด้านกฎหมายการศึกษา เพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาของสามเณร ตลอดจนเกิดคู่มือการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาของสามเณรที่สมบูรณ์ และผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ความเข้าใจในแนววิธีปฏิบัติต่อสามเณรและการจัดการศึกษาเพื่อสามเณร โดยการดำเนินการนี้ถือเป็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคด้านการศึกษาผ่านการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทผู้เรียนสอดรับกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
จากการจัดประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวที่ สกศ. ได้เคยจัดขึ้นและรวบรวมข้อมูลถึงสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหา มีแนวทางการแก้ปัญหา ดังนี้ 1) แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2) ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถรับสามเณรเข้าศึกษาได้ 3) จัดทำคู่มือวิธีปฏิบัติกับสามเณร 4) การจัดการเรียนการสอนที่รับรองต่อเพศบรรพชิต และ 5) สิทธิในการเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษา จากประเด็นแนวทางการแก้ปัญหาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการจัดการศึกษารูปแบบดังกล่าวควรเป็นของสถาบันพระพุทธศาสนาเพราะมีความรู้ความเข้าใจในเพศบรรพชิต และสามารถจัดหลักสูตรให้เหมาะสมได้ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันควรจะต้องแก้ไขข้อกฎหมายให้รองรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าวก่อน ระหว่างนั้นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานก็จะต้องรับสามเณรเข้าศึกษาไปก่อน โดยต้องออกแบบการจัดการศึกษาและการประเมินให้เหมาะสมกับผู้เรียน
สำหรับการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมร่วมกันหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งแสดงความเห็นต่อการจัดทำคู่มือถึงประเด็นสำคัญที่ควรบรรจุในคู่มือแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร โดยเปิดโอกาสให้สถานศึกษาแต่ละแห่งร่วมแสดงความเห็น พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่จัดการศึกษาให้รับสามเณร เช่น เทคนิคการจัดการเรียนการสอน ปัญหาที่พบ แนวทางการแก้ไข และวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับสามเณร นอกจากนี้ที่ประชุมร่วมกันซักถามข้อสงสัยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การแบ่งความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งหลักเกณฑ์ในการรับสามเณรเข้าศึกษา ความสามารถและความพร้อมของสถานศึกษาในการรับสามเณรเข้าศึกษา โดย สกศ. จะนำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ไปแก้ไขปัญหาและพัฒนาเป็นคู่มือแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณรต่อไป