ทีมประเทศไทยร่วมประชุม FG-PQAP ส่งเสริมการประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน
วันที่ 19 ธันวาคม 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและทีมประเทศไทยร่วมการประชุมเพื่อนำเสนอการส่งเสริมการประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน (Focus Group on Promoting Quality Principle: FG-PQAP) โดยมี Prof.Dr.Ir.Sri Suning Kusumawardani, St., Mt Director of Learning and Student Affairs (Ministry of Higher Education, Science, and Technology) กล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ดร.ศศิรัศม์ วีระไวทยะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมประชุมรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออนกราวด์ ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
จากการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF Committee) ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 17 – 18 มกราคม 2567 ณ เมืองปุตราจายา สหพันธรัฐมาเลเซีย ได้มีประชุมสนทนากลุ่ม เรื่อง การส่งเสริมการประกันคุณภาพ (Focus Group on Promoting Quality Assurance Principle: FG-PQAP) ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนงานด้านการประกันคุณภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม สำนักเลขาธิการอาเซียนในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนจึงร่วมกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียประธานการสนทนากลุ่ม (Lead Country) จัดการประชุม FG-PQAP ขึ้น เพื่อนำกรอบคุณวุฒิไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน
ในส่วนของประเทศไทย ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญและมีบทบาทหลักในการประกันคุณภาพการศึกษา นำเสนอแนวทางประเมินคุณภาพของไทยประกอบด้วย การประกันคุณภาพภายใน (IQA) และการประเมินคุณภาพภายนอก (EQA) โดย สมศ. ซึ่งมีหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอกนั้น จะรับข้อมูล SAR ของสถานศึกษาและผลวิเคราะห์ (โดยเขตพื้นที่การศึกษา) ผ่าน สพฐ. จากนั้นประเมินและจัดส่งรายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอก พร้อมข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นการสะท้อนผลลัพธ์การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ตลอดจนปรับปรุง/พัฒนาการบริหารจัดการหลักสูตรของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด/กำกับอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การนำกรอบคุณวุฒิไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิระดับอาเซียนและทำให้เกิดความคล่องตัวในการเทียบเคียงระดับคุณวุฒิของผู้เรียนและแรงงานต่อไป