สกศ.หารือผู้ทรงคุณวุฒิขับเคลื่อนแผนชาติด้วยการจัดการศึกษาสีเขียว (Green Education)
วันที่ 13 ธันวาคม 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดประชุมปรึกษาหารือเรื่อง การจัดทำกรอบการดำเนินงานการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 : ยุทธศาสตร์ที่ 5 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายพิภพ พิทักษ์ศิลป์ นักวิชาการอิสระด้านการศึกษา ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียงกรมควบคุมมลพิษ นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นายเฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางสาวใจสิริ วรธรรมเนียม มูลนิธิควีนส์ฟอเรสต์พาร์คทรัสต์ ผู้แทนจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นางโชติกา วรรณบุรี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี อาคาร 1 สกศ.
นางโชติกา กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 : ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สกศ.ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ มีแนวทางกรอบการวิจัย คือการลงพื้นที่ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ เพื่อจัดประชุม Focus group การสัมภาษณ์เชิงลึก และถอดบทเรียนจากสถานศึกษา เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการจัดการศึกษาสีเขียว (Green Education) ให้ผู้เรียนทุกช่วงวัย มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาแผนการศึกษาให้มีประสิทธิภาพเหมาะสม
ที่ประชุมมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและทิศทางการศึกษา Green Smart Education ควรส่งเสริมองค์ความรู้ของผู้สอนและผู้เรียนในการเป็นผู้เชี่ยวชาญในบริบทพื้นที่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถมีศักยภาพในการรับมือกับสถานการณ์ธรรมชาติได้ดี สำหรับการดำเนินงานและการจัดหลักสูตรและกิจกรรมสำหรับเด็กและ เยาวชนกับสิ่งแวดล้อมควรจัดกิจกรรมพื้นที่นวัตกรรมให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ขยายผลต่อยอดนอกห้องเรียน สร้างจิตสำนึกที่เป็นพลเมืองโลก และผู้เรียนสามารถปรับตัว หรือการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ เน้นหลักสูตรและทักษะการจัดการศึกษาที่มองปัญหาในพื้นที่ ร่วมกันแก้ปัญหา และการสนับสนุนจากเครือข่ายในพื้นที่
สกศ. จะนำข้อเสนอที่ได้จากการประชุมในวันนี้ไปปรับปรุงพัฒนาข้อเสนอเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาสีเขียว (Green Education) พร้อมดำเนินการขับเคลื่อนแผนการศึกษาลงสู่การปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพและสามารถผลิตพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะสีเขียวเพื่อรองรับตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงชี้ทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป