อนุฯ กฎหมาย ดัน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พัฒนาทุนมนุษย์ตามนโยบายรัฐบาล
วันที่ 11 ธันวาคม 2567 ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านกฎหมายเป็นประธานเปิดการประชุมอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านกฎหมาย ครั้งที่ 4/2567 โดยมีอนุกรรมการ และนายเนติ รัตนากร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา เลขานุการอนุกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออนกราวด์ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สกศ.
นายเนติ รายงานว่า พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย สกศ. ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมายเพื่อพิจารณา ทบทวนร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับที่ 660/2564 สู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศสอดรับตามนโยบายด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่ง สกศ. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง 4 ภูมิภาค พบประเด็นสาระสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่ 1) แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะตามช่วงวัย 2) บทบาทของครูผู้สอนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไป ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตลอดจนแนวทางการประเมินความก้าวหน้าทางวิชาชีพที่เหมาะสม 3) แนวทางการสร้างความเป็นอิสระของสถานศึกษา และ 4) กลไกและปัจจัยสำคัญที่ต้องกำหนดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศ
ประกอบกับข้อสั่งการของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การกำหนดสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2) กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายผู้เรียนแต่ละช่วงวัยให้ยืดหยุ่น 3) กำหนดหน่วยงานหลักที่พัฒนาผู้เรียนแต่ละช่วงวัย 4) การยกเว้นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 5) การส่งเสริมหน่วยงานที่ร่วมจัดการศึกษาในพื้นที่ให้มีมาตรฐานเท่าเทียมทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 6) การกำหนดโครงสร้าง ภารกิจ กลไกการบริหารงานให้เน้นการบูรณาการ
คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาจากการรับฟังความคิดเห็นและข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีมีมติ 2 แนวทางเลือก คือ แนวทางที่ 1 ให้ฝ่ายเลขานุการเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับที่ 660/2564 พร้อมข้อเสนอวิเคราะห์และข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามกระบวนการตรากฎหมายได้ทันต่อสมัยประชุมรัฐสภา ทางเลือกที่ 2 ให้ฝ่ายเลขานุการนำประเด็นที่มีความแตกต่างระหว่างร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับ 660/2564 และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับคณะกรรมาธิการวิสามัญไปรับฟังความคิดเห็น พร้อมนำเสนอต่อที่ประชุมสภาการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง