กระทรวงศึกษาธิการพร้อมเดินหน้า ผนึกกำลังขับเคลื่อนนโยบายระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank)
วันที่ 9 ธันวาคม 2567 กระทรวงศึกษาธิการได้จัด “การประชุมแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิต” โดยมี ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ผู้แทนองค์กรหลักและในกำกับกระทรวงศึกษาธิการส่วนกลางและภูมิภาคในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี และสุรินทร์ ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา และ ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเข้าร่วมการประชุม ณ วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
ดร.สิริพงศ์ กล่าวเน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการใช้ระบบธนาคารหน่วยกิตและการเรียนรู้แบบ Micro Credentials เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ในปัจจุบันและอนาคต ที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ด้วยการพัฒนา “หลักสูตรท้องถิ่นศึกษา” นำมากำหนดเป็นตัวชี้วัดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สำคัญของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะที่สำคัญ และสามารถนำมาสะสมเทียบโอนได้ โดยสถานศึกษาต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์ทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้เหล่านั้น ในลักษณะ Auto On คือเป็นระบบที่พร้อมให้บริการ และบริหารจัดการด้วยระบบ
ดร.นิติ นำเสนอแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา สกศ.ในฐานะของหน่วยงานกลางที่ดูแลรับผิดชอบกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนงานให้บังเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมตามรูปแบบที่สำคัญในการสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษา การฝึกอบรม การมีใบรับรองมาตรฐานอาชีพ และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล รวมถึงการมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อให้สถานศึกษามีความพร้อมสำหรับการจัดการศึกษาและรับสมัครผู้เรียนในระบบธนาคารหน่วยกิต ในปีการศึกษา 2568 นี้
การประชุมดังกล่าวทำให้เกิดความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานร่วมกันในการพัฒนาและใช้ระบบธนาคารหน่วยกิตให้เกิดเป็นรูปประธรรมในเชิงพื้นที่ ภายใต้รูปแบบการทำงาน “MOE One Team” ในการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติของ สกศ. ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ ซึ่งสกศ. สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการในส่วนขององค์ความรู้ กระบวนการ ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และการพัฒนารายวิชาเพิ่มเติม รวมถึงการวางแผนการจัดการศึกษาแบบ Block Course ให้แก่โรงเรียนขยายโอกาสที่เป็นคู่ความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษซึ่งเป็นสถานศึกษานำร่อง เพื่อเตรียมนำเข้าสู่ระบบสะสมและเทียบโอนหน่วยกิตของธนาคารหน่วยกิตของจังหวัดต่อไป