สกศ. ขับเคลื่อนนิเวศการเรียนรู้ สู่อันดามัน ถกแนวทางการดำเนินงาน จัดระบบนิเวศการเรียนรู้ของสถานศึกษา

image

ระหว่างวันที่ 20 – 22 พฤศจิกายน 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบการพัฒนาแผนการดำเนินงานการจัดนิเวศการเรียนรู้ฯ ณ จังหวัดภูเก็ต และพังงา นำโดย นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และข้าราชการ สมร. โดยมี ดร.ณัฐญาพร เสวตนนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต และนางภัทรนิษฐ์ วิเชียรบรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไม้ขาวร่วมให้ข้อมูล

การลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการติดตามผลและจัดทำแผนขับเคลื่อนการนำรูปแบบการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย 4.0 สู่การปฏิบัติ ระยะที่ 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและจัดทำแผนการดำเนินงานการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ของสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจัดทำฐานข้อมูลการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ของประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และขับเคลื่อนการนำผลผลิตของโครงการฯ สู่การปฏิบัติในสถานศึกษา

จากการเก็บข้อมูลมีสาระสำคัญดังนี้ 
โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีผู้เรียนกว่า 2,000 คน จัดการเรียนสอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 มุ่งเน้นการจัดสภาพแวดล้อมและปรับระบบนิเวศ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านวิชาการ และด้านคุณธรรม การสร้าง mindset ร่วมกับชุมชน การอยู่กับชุมชน ไปจนถึงการเปลี่ยนความคิดของชุมชนผ่านหลักสูตร mindfulness ภายใต้แนวคิดการสร้างป่าในใจคนและการระเบิดจากภายใน และมีการกำหนดเป้าหมายหลักร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยโมเดล “SEP Education Area หรือ SEP School” ผ่านการบูรณาการโครงงาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมของชุมชน ใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอนในลักษณะ Project Based Learning การประเมินที่สอดคล้องทั้ง Knowledge Attitude และ Skills (KAS) มีการนำเทคโนโลยีช่วยประเมินแบบ real time โดยกำหนดหัวใจสำคัญ คือ การประเมินเชิงบวก การให้รางวัล และทำให้การประเมินเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน สำหรับการขับเคลื่อนการจัดนิเวศการเรียนรู้ ใช้การขับเคลื่อนผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง การตั้งองค์กรอิสระ อาทิ ชมรมปูก้ามดาบ การเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและคนในชุมชนเป็นแกนนำในการสร้างจิตสำนึกและอนุรักษ์ป่าชายเลนรอบสถานศึกษา และการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมถึงการนำหลักสูตรจากต่างประเทศมาใช้ (อาทิ หลักสูตร Money Tree ของสิงค์โปร์) เป็นต้น 

โรงเรียนบ้านไม้ขาว เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียน 127 คน ครูผู้สอน 13 คน มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ผ่าน 3 กรอบแนวคิด คือ กรอบการเรียนรู้ กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนัก โดยหนุนเสริมด้วยการมีส่วนร่วมของนักเรียน เยาวชน ชุมชน ผู้สูงอายุ ตลอดจนเครือข่ายการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น “ผักลิ้นห่าน” สำหรับการขับเคลื่อนการจัดนิเวศการเรียนรู้ พบว่ามีปัจจัยความสำเร็จเกิดจากการที่ทุกคนในชุมชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง/เจ้าของโรงเรียน ครูผู้สอนมีความสามารถในการประสานความร่วมมือและระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน การรู้จักและดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล ด้วยโมเดล “POWER XPLUS” การมี role model จากการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศ เพื่อไปสู่เป้าหมายในการสร้างผู้เรียนให้เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ และการเป็น “คนตงห่อ” ตามเป้าหมายของจังหวัดภูเก็ต


 

ทั้งนี้ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ จะนำข้อเสนอแนะจากสถานศึกษา เพื่อใช้ในการปรับแผนการจัดนิเวศการเรียนรู้ของสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบททั้งในระดับพื้นที่และภาพรวมของประเทศต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด