สกศ. เปิดโต๊ะหารือรายงานการศึกษา แนวทางการเทียบเคียง NQF - AQRF กับระบบคุณวุฒิของจีน สู่การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมหารือเพื่อจัดทำรายงานแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม และดร.ปัทมา วีระวานิช พร้อมด้วย ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ข้าราชการและบุคลากร สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย ชั้น 5 อาคาร 2 สกศ.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการประชุมและหารือความร่วมมือเพื่อการศึกษาแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 23 – 28 มิถุนายน 2567 ณ กรุงปักกิ่ง และนครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อศึกษาแนวทางในการเทียงเคียงกรอบคุณวุฒิระดับภูมิภาคกับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการศึกษา รวมทั้ง เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทยกับกระทรวงศึกษาธิการสาธารณประชาชนจีนและหน่วยงาน/องค์คณะที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษา
ที่ประชุมได้มีการหารือแนวทางการเทียบเคียง NQF ของไทยและ AQRF กับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นร่วมกันจัดทำรายงานฯ ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ AQRF ครั้งที่ 15 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือ ธันวาคม 2567 ซึ่งครอบคลุมประเด็น ดังนี้ 1) ระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีนและแนวทางการเชื่อมโยงหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษาของประเทศไทย 2) เกณฑ์และประเด็นในการเทียบเคียงระบบทวิวุฒิ 3) แนวทางการเทียบเคียง NQF ภายใต้ AQRF และ 4) การจัดทำข้อเสนอการเทียบเคียง AQRF กับระบบทวิวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน
จากรายงานฯ ในภาพรวมสาธารณรัฐประชาชนจีนมีจุดเด่นที่น่าสนใจ เช่น มีกลไกจากภาครัฐที่สามารถผลักดันให้ภาคประกอบการร่วมจัดการอาชีวศึกษา หลักสูตรได้รับการพัฒนาด้วยความร่วมมือจากภาคประกอบการมีการเตรียมความพร้อมในการผลิตและพัฒนากำลังคนเข้าสู่อุตสาหกรรม BCG ได้แก่ หลักสูตรพลังงานใหม่ ดิจิทัล และการจัดการทางอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ เป็นต้น ทั้งนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการศึกษารูปแบบทวิวุฒิไทย-จีน ระดับ ปวส. รวมถึงภาษาจีน (HSK) ที่จะเป็นไปตามมาตรฐานเจ้าของภาษา โดยสอดรับกับแนวนโยบาย “Learn to Earn : การเรียนเพื่อการมีงานทำ และการมีรายได้ระหว่างเรียน” และ “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime)” เพื่อนำไปสู่พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ศักยภาพผู้เรียน ที่จะสามารถพัฒนากำลังคนให้พร้อมกับการแข่งขันในตลาดแรงงานได้ต่อไป
ภาพ / ข่าว : สำนักสื่อสารองค์กร