No One Left Behind สกศ. จับมือ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และ สกร. จัดการเรียนรู้ดูแลกลุ่มเปราะบางทางสังคม ณ สถานแรกรับเด็กและเยาวชนบ้านเมตตา
วันที่ 30 ตุลาคม 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสภาพและแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นางสาวสรัยณ์อร บุญมี ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับเขตบางนา (สกร.บางนา) ผู้แทนกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ผู้แทนเยาวชน และทีม สมร. ร่วมเก็บข้อมูล ณ สถานแรกรับเด็กและเยาวชนบ้านเมตตา
การเก็บข้อมูลในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยทีม สมร. ได้พูดคุยกับผู้แทนเด็กและเยาวชน ครูผู้สอน เพื่อร่วมกันสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งในด้านกายภาพ ด้านจิตใจ การฝึกอาชีพ และหัวข้อที่น้อง ๆ อยากให้เป็นจุดเน้นของการเรียนรู้ในสถานพินิจ เพื่อให้เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ปัจจุบันสถานแรกรับเด็กและเยาวชนบ้านเมตตามีเยาวชน จำนวน 139 คน ทำหน้าที่ทั้งในฐานะสถานแรกรับเพื่อดูแลเด็กที่อยู่ระหว่างการสืบเสาะและพินิจ และเป็นศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน สำหรับเด็กที่ศาลพิจารณาคดีความแล้วและให้เข้ารับการฝึกอบรม โดยมีการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานที่ร่วมกับ สกร.บางนา และศูนย์การเรียนอัลฟอนโซ มาเรีย (ระดับประถมศึกษา) ศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโก (ระดับมัธยมศึกษา) และการสอนทักษะวิชาชีพ โดยฝ่ายการศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพของสถานแรกรับฯ ซึ่งได้รับการอนุมัติหลักสูตรและคุณสมบัติครูผู้สอนจาก สกร.บางนา อีกทั้งยังมีระบบส่งต่อผู้เรียนและการเทียบโอนผลการเรียนเพื่อดูแลเด็ก ๆ ให้สามารถมีวุฒิการศึกษาเพื่อการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพในอนาคต
แม้ว่าจะมีข้อจำกัดทางกฎหมาย แต่สถานแรกรับเด็กและเยาวชนบ้านเมตตาได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้และสภาพแวดล้อม สร้างพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) โดยมีห้องสมุด 3 แห่ง ห้องสมุดเคลื่อนที่ ลานกีฬา ตลอดจนมีคณะสหวิชาชีพที่ประกอบด้วยนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลวิชาชีพ ร่วมดูแลเด็กและเยาวชนให้ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป
จากนี้ จะมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านสิริธร จังหวัดนครปฐม ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงเดือนพฤศจิกายน และจะนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคม เพื่อขับเคลื่อนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติต่อไป