สกศ. ร่วมพิธีเปิดนิทรรศการสื่อการศึกษาและการประชุมนานาชาติ didacta asia 2024 congress

image

วันที่ 16 ตุลาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา มอบหมายให้ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ประกอบด้วย ดร.ศศิรัศม์ วีระไวทยะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ  นางโชติกา วรรณบุรี รักษาการผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา และข้าราชการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และสำนักนโยบายและแผนการศึกษา เข้าร่วมพิธีเปิดงานนิทรรศการสื่อการศึกษาและการประชุมนานาชาติ “didacta asia 2024” และ งาน “didacta asia congress” เพื่อแลกเปลี่ยน นโยบาย องค์ความรู้ และส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษา ในหัวข้อ “นโยบายการศึกษาเท่าเทียมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southest Asian Ministers of Education Organization -SEAMEO Secretariat) ร่วมเป็นผู้จัดการประชุม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา ภายใต้แนวคิด Shaping the Future Skills มุ่งเน้นแนวคิด สร้างทักษะเพื่ออนาคต ด้วยการเน้นใช้เทคโนโลยีมายกระดับการเรียนการสอน และพัฒนาการเรียนรู้ในทุกระดับการศึกษา ผสานกับการเรียนการสอนยุคใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพของการศึกษาในภูมิภาค

โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานการศึกษาในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในรูปแบบการจัดประชุมระดับนานาชาติ (didacta asia congress) การเปิดเวทีให้บุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนร่วม เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ ร่วมพัฒนาการศึกษาแห่งอนาคต จากผู้นำในวงการการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ (didacta asia Forum), การจัดมหกรรมแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา นำเสนอนวัตกรรม โซลูชันใหม่ๆ ให้ทดลองใช้ รวมถึงพาวิลเลียนพิเศษจากประเทศเยอรมนี ฮ่องกง จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น (didacta Trade Fair & International Pavilions) และ การจัดแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์ ด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 3 ชิงถ้วยพระราชทานฯ ในระดับอุดมศึกษา และ อาชีวศึกษา (Skill Competition)

ไฮไลท์สำคัญในการประชุมคือเวทีเสวนาระดับรัฐมนตรี ในหัวข้อ นโยบายการศึกษาเท่าเทียมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยายโดย Datuk Dr. Habibah binti Abdul Rahim ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) H.E Mr Nos Sles รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา กัมพูชา และ รศ. ดร. รัฐชาติ มงคลนาวิน อนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย คณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยสามารถสรุปข้อสังเกตจากวิทยากรทั้ง 3 ท่านได้ ดังนี้
1) วิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในระดับสูง สังเกตจากการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (จาก 16% ในปี 2014 สู่ 24% ในปี 2024 ) การบูรณาการสื่อดิจิทัลในห้องเรียน และปัจจัยอื่น ๆ 
2) ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เกิดขึ้น มีความเหลื่อมล้ำในการเปลี่ยนแปลงในภาคการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีขนาดใหญ่ (เช่น อินโดนีเซีย) สืบเนื่องจากภูมิประเทศที่่ไม่เอื้อต่อการวางระบบพื้นฐาน จึงทำให้นักเรียน/ผู้เรียนในบางพื้นที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์หรือสื่อการเรียนรู้บนโลกอินเทอร์เน็ต
3) ประเทศภายในภูมิภาคอาเซียนควรร่วมมือกันสร้างความร่วมมือภายใต้งานวิจัยในประเด็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลที่มีต่อการเรียนการสอนและระบบการศึกษา โดยปัจจุบันพบว่ายังมีงานวิจัยจำนวนจำกัด 
4) อุปสรรคปัญหาในการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีในภาคการศึกษาเกิดจากการที่ผู้สอนและโรงเรียนขาดแรงสนับสนุนและโอกาสการเรียนรู้จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงควรมีการนำประเด็นนี้สอดแทรกในการจัดทำนโยบายพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในอนาคต หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ในโลกดิจิทัลในอย่างเต็มที่ เช่น โครงการ Learning Community for Teacher ในประเทศมาเลเซีย
5) สถาบันอุดมศึกษาต้องมีการกระตุ้นให้มีการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการดำเนินงานตามพันธกิจด้านอื่น ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) ที่จะช่วยให้สถาบันอุดมศึกษามีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล เพื่อเป็นกลไกและรากฐานสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสเพิ่มความเท่าเทียมทางด้านการศึกษาของประเทศ

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด